ลดดอกเบี้ยเหลือ 1% ส่งสัญญาณอะไรต่อเศรษฐกิจไทย และจะส่งผลดีต่อการทำธุรกิจหรือไม่


เมื่อวันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2563 คณะกรรมการนโยบายการเงินมีมติเอกฉันท์ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงจากเดิม 1.25% เหลือ 1.00% ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่ต่ำที่สุดเป็นประวัติการณ์

สำหรับเหตุผลของการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลง เนื่องจากคณะกรรมการนโยบายการเงินมีการประเมินว่าการเติบโตของเศรษฐกิจในปี 2563 จะต่ำกว่าการประมาณการเดิมจากปัจจัยลบที่เพิ่มขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ไวรัสโคโรนาที่ธุรกิจและการจ้างงานที่เกี่ยวข้องได้รับผลกระทบ, พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายล่าช้า และภัยแล้ง

หากพูดถึงผลกระทบที่ตามมาสำหรับผู้ประกอบการที่ทำธุรกิจ หรือประชาชนทั่วไป จากปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายซึ่งจะเป็นไปในทิศทางบวกหรือลบ บทความนี้มาดูกัน

เศรษฐกิจชะลอตัว

การปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายมักจะใช้ในสถานการณ์ที่มองแล้วว่าเศรษฐกิจ ณ ขณะนั้นอยู่ในสภาวะชะลอตัว เพราะการปรับลดจะส่งผลกระทบต่อดอกเบี้ยเงินฝากที่จะต้องลดลงตามไปด้วย นั่นหมายความว่าคนที่นำเงินไปฝากตามธนาคารจะได้รับดอกเบี้ยลดลง

ดังนั้น จึงอาจจะเรียกได้ว่าวิธีนี้เป็นอีกทางในการกระตุ้นให้ประชาชนเกิดการใช้จ่าย นำเงินมาลงทุนในสินทรัพย์อื่น ๆ มากขึ้น แทนที่จะนำไปฝาก เพื่อทำให้เงินทุนเกิดการหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ

ผลที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจ

อย่างที่กล่าวไปข้างต้น คือการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนมากขึ้น จึงทำให้ “ดอกเบี้ยเงินกู้” ปรับลดตาม และเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่ต้องการทำธุรกิจ หรืออยากจะขยับขยายกิจการที่จะได้ต้นทุนที่ถูกลง นำมาสู่เงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจ อาจจะจะกล่าวได้ว่าช่วงเวลานี้เป็นโอกาสอันดีที่จะขอสินเชื่อจากสถาบันทางการเงิน

นอกจากนี้ในส่วนของค่าเงินบาท จะพบว่าที่ผ่านมาค่าเงินบาทไทยมีการแข็งค่า ซึ่งการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายเป็นการช่วยค่าเงินบาทอ่อนค่าลง ทำให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจ นำมาสู่การผลิตภายในประเทศที่ขยายตัว ช่วยทำให้ภาคการส่งออกดีขึ้น

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย – Bank of Thailand