รวมมาตรการ “พักหนี้และเสริมภาพคล่อง” สำหรับ SMEs ของแบงก์รัฐและเอกชนที่ขานรับนโยบายของ ธปท.


สถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชน ต่างออกมาขานรับนโยบายของ ธปท. ที่เพิ่มความเข้มข้นมาตรการ “พักหนี้” และ “เสริมสภาพคล่อง” เพื่อช่วย SMEs ฝ่าวิกฤต

หลังจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้ประกาศมาตรการช่วยบรรเทาผลกระทบจากการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ออกมาเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือ SMEs ให้มีเงินทุนและสภาพคล่องเพียงพอสำหรับทำธุรกิจและรักษาการจ้างงานต่อไปได้

โดยมาตรการที่ออกมานั้นมีทั้ง มาตรการเลื่อนกำหนดการชำระหนี้สำหรับธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท เป็นระยะเวลา 6 เดือน และ มาตรการสนับสนุนสินเชื่อใหม่ (Soft Loan) ให้แก่ธุรกิจ SMEs วงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษ 2% ต่อปี และ ไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก

ตอนนี้สถาบันการเงินทั้งรัฐและเอกชน ต่างออกมาขานรับนโยบายดังกล่าวของ ธปท. ส่วนจะมีอะไรที่น่าสนใจบ้าง Smart SME ทำการรวบรวมมาให้แล้ว

ธนาคารกสิกรไทย

ธนาคารกสิกรไทย ประกาศมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยให้กับลูกค้าผู้ประกอบการที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ระยะเวลา 6 เดือน เริ่ม 1 เมษายน 2563 – 30 กันยายน 2563

พร้อมให้เงินกู้เสริมสภาพคล่องลูกค้าผู้ประกอบการที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยให้ลูกค้าสามารถกู้ได้ 20% ของยอดวงเงินเดิม คิดอัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี และไม่คิดอัตราดอกเบี้ย 6 เดือนแรก

ธนาคารไทยพาณิชย์

ธนาคารไทยพาณิชย์ ประกาศมาตรการพักชำระสินเชื่อทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยเป็นระยะเวลา 6 เดือน ให้แก่ลูกค้าธุรกิจ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาททุกราย โดยจะธนาคารดำเนินการพักหนี้ให้ลูกค้ากลุ่มนี้ตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 เป็นต้นไป

และเพื่อเป็นการช่วยเสริมสภาพคล่องให้กับธุรกิจที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท ธนาคารไทยพาณิชย์ยังมีมาตรการสนับสนุนสินเชื่อซอฟต์โลน อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี เป็นระยะเวลา 2 ปี โดยไม่คิดดอกเบี้ยในระยะ 6 เดือนแรก

ลูกค้า SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาททุกรายจะได้รับการพักชำระหนี้ 6 เดือนโดยอัตโนมัติเริ่มมีผลตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 เป็นต้นไป สำหรับลูกค้าที่ต้องการสินเชื่อซอฟต์โลนสามารถแจ้งความประสงค์ได้ตั้งแต่วันที่ 7 เมษายน 2563 – 30 กันยายน 2563

ธนาคารกรุงไทย

ธนาคารกรุงไทยร่วมออกมาตรการเพิ่มเติม เพื่อช่วยเหลือ SMEs ของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามร่างพระราชกำหนดการให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมฯ โดยประกาศพักชำระหนี้เงินต้น-ดอกเบี้ย 6 เดือน ให้กับลูกค้าธุรกิจที่มีวงเงินกู้ไม่เกิน 100 ล้านบาท เพื่อรับมือกับรายจ่ายที่จำเป็นของธุรกิจ เริ่มมีผลเดือนเมษายน-กันยายน 2563

สำหรับการเสริมสภาพคล่อง ธนาคารยังสนับสนุนสินเชื่อใหม่ (Soft Loan) เพื่อเสริมสภาพคล่องให้กลุ่มลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยกู้ได้สูงสุดไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง ณ 31 ธันวาคม 2562 อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี โดยธนาคารไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก

ธนาคารกรุงเทพ

ธนาคารกรุงเทพ สนับสนุนมาตรการเพิ่มเติมของ ธปท. เพื่อช่วยลูกค้าผู้ประกอบการให้มีเงินทุนและสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจและรักษาการจ้างงานต่อไป โดยให้ความการช่วยเหลือ

สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการค้าทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท ได้พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยโดยอัตโนมัติ ระยะเวลา 6 เดือน และไม่เสียประวัติข้อมูลเครดิต

พร้อมสนับสนุนสินเชื่อใหม่ (soft loan) เพื่อเป็นเงินกู้เสริมสภาพคล่อง สำหรับลูกค้าผู้ประกอบการค้าทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคลที่ดำเนินธุรกิจในประเทศไทย และมีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนพิเศษ 2% ต่อปี ในช่วง 2 ปีแรก และไม่คิดดอกเบี้ยในช่วง 6เดือนแรก ทั้งนี้ลูกค้าต้องมีสถานะผ่อนชำระปกติ หรือค้างชำระไม่เกิน 90 วัน (ยังไม่เป็น NPL) ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 โดยแต่ละรายสามารถขอกู้ได้ไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้างของลูกหนี้ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2562

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ประกาศมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ยนาน 6 เดือนแก่ลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท และมาตรการให้เงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่อง (Soft loan) แก่ลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยสามารถกู้ได้สูงสุด 20% ของยอดหนี้คงค้าง ณ สิ้นปี 2562 ในอัตราดอกเบี้ย 2% เป็นเวลา 2 ปี และไม่ต้องชำระดอกเบี้ยในช่วง 6 เดือนแรก

ทั้งนี้ ลูกค้าสามารถกู้เพิ่มได้สูงสุดไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2562 อัตราดอกเบี้ย 2% เป็นเวลา 2 ปี ไม่ต้องชำระดอกเบี้ย 6 เดือนแรก โดยลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs สามารถขอรับมาตรการความช่วยเหลือได้ที่ “โครงการรับเรื่องจากลูกค้าสินเชื่อที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19” บนเว็บไซต์ krungsri.com

ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์

ธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ พร้อมให้ความช่วยเหลือลูกค้าผู้ประกอบการ SMEs โดยจะพักชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน สำหรับ SMEs ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 100 ล้านบาท รวมถึงพร้อมปล่อยกู้เสริมสภาพคล่อง อัตราดอกเบี้ย 2% ต่อปี ปลอดดอกเบี้ย 6 เดือน ซึ่งกู้ได้ไม่เกิน 20% ของหนี้คงค้าง ณ 31 ธ.ค.2562

ธนาคารออมสิน

ธนาคารออมสิน ที่ออกมาประกาศขานรับนโยบายธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ดำเนินการพักชำระเงินต้น และดอกเบี้ย โดยอัตโนมัติทันที สำหรับลูกค้ากลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ทั้งบุคคลธรรมดาและนิติบุคคล เป็นเวลา 6 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย.-30 มิ.ย.2563

SME D Bank

ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank ได้ออกมาตรการเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือ SMEs โดยเลื่อนชำระหนี้เงินต้นและดอกเบี้ยอัตโนมัติให้ลูกค้า เป็นเวลา 6 เดือน เริ่มมีผลตั้งแต่เดือนเมษายน 2563 ถึงเดือนกันยายน 2563 สำหรับภาระหนี้ที่พักชำระไว้ ธนาคารจะนำยอดดังกล่าว ไปรวมกับค่างวดในงวดสุดท้าย ซึ่งในช่วงที่ผ่อนปรนนี้ ไม่ถือว่าเสียประวัติข้อมูลเครดิต

ทั้งนี้ ลูกค้าที่เข้าเกณฑ์ดังกล่าวจะได้รับสิทธิโดยอัตโนมัติทันที ไม่ต้องแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการ หรือลงทะเบียนใด ๆ ทั้งสิ้น

EXIM BANK

ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (ธสน.) หรือ EXIM BANK มีมาตรการพักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย 6 เดือน สำหรับลูกค้าทุกราย ที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ทั้งทางตรงและทางอ้อม พร้อมกันนี้ยังมีเงินกู้เสริมสภาพคล่องสำหรับลูกค้าที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 500 ล้านบาท โดยให้กู้ได้ไม่เกิน 20% ของยอดหนี้คงค้าง ณ 31 ธ.ค.2562 คิดอัราดอกเบี้ยต่ำ 2% ต่อปี และ ปลอดดอกเบี้ยช่วง 6 เดือนแรก ซึ่งลูกค้าสามารถติดต่อขอกู้ได้จนถึง 31 ธ.ค.2563