สไตล์ใหม่ “บสย.” พร้อมขับเคลื่อนบทบาท “นายธนาคารข้างถนน” รับมติ ครม. คลังปลดล็อก ค้ำประกัน SME “Soft Loan พลัส” หนุนวงเงินค้ำ 57,000 ล้านบาท 7 เดือน ม.ค.-ก.ค. 2563 ค้ำ แล้ว 115,149 ล้านบาท
ภาครัฐ สถาบันการเงิน ช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาแน่นอนว่าต้องทำทุกวิถีทางเพื่อหา “เศรษฐกิจไทย” ไปให้รอดจากวิกฤตโควิด-19 ที่เกิดขึ้น ซึ่งเป้าใหญ่ที่รัฐบาลต้องช่วยคือผู้ประกอบการ SME ที่ได้รับผลกระทบอย่างหนัก และมันเป็นห่วงโซ่ของผลเสีย
การแก้ปัญหารัฐบาลเลือกจะเปิดช่องให้ SME ไทยเข้าถึงแหล่งเงินทุนสินเชื่อที่มีดอกเบี้ยต่ำให้ได้มากที่สุด เพื่อนำสายป่านไปหมุนเวียนธุรกิจให้อยู่รอดและเดินหน้าต่อไปได้ ซึ่งมันจะส่งผลกระทบต่อวงจรเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศให้ดียิ่งขึ้น
แต่บ่อยครั้งที่ SMEs เมื่อเดินมาถึงประตูของสิ่งที่เรียกว่าสินเชื่อแล้ว กลับเปิดเข้าไปเอาเงินทุนยังไม่ได้ เพราะเครดิตการค้ำประกัน ยังดีไม่เพียงพอ การ “ค้ำประกันสินเชื่อ” จึงเป็นเรื่องใหญ่สำหรับการช่วย SMEs ไทยเพื่อให้เข้าถึงกับการได้รับสินเชื่ออย่างแท้จริง
ซึ่งหน้าที่ตรงนี้ อีกสถาบันการเงินที่เข้ามาช่วยเหลือ คือ บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ที่ทำหน้าที่ได้อย่างดี เพราะล่าสุดจากผลงานการดำเนินการในช่วงกรอบระยะเวลา 7 เดือนของปี 2563 หรือตั้งแต่เดือนมกราคม – กรกฎาคม 2563 ก็ทำหน้าที่ค้ำประกันสินเชื่อให้กับ SME ไทยไปแล้วรวมวงเงินมากถึง 115,149 ล้านบาท
ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการและผู้จัดการทั่วไป บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ฉายภาพว่า บสย. พร้อมขับเคลื่อนบทบาท “นายธนาคารข้างถนน” เพื่อเป็นเพื่อนแท้ SME และคนตัวเล็กที่เข้าถึงง่าย ไร้ข้อจำกัด พร้อมยืนเคียงข้างกลุ่มอาชีพอิสระ ผู้ประกอบการทุกขนาด ให้ผ่านวิกฤตไปด้วยกัน ท่ามกลางสถานการณ์เศรษฐกิจและปัจจัยลบรอบด้าน จากสถานการณ์ COVID-19 ส่งผลให้ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ไตรมาส 2 ปี 2563 ระหว่างเดือน เมษายน-มีนาคม 2563 ติดลบ 12.2% และการคาดการณ์ว่า GDP ประเทศไทยทั้งปี 2563 จะติดลบในระดับ 7.5%
อย่างไรก็ตาม ผลการดำเนินงานค้ำประกันสินเชื่อ บสย. ในรอบ 7 เดือน ปี 2563 ระหว่างเดือน มกราคม – กรกฎาคม ช่วยให้ผู้ประกอบการ SME เข้าถึงสินเชื่อได้สูงกว่าเป้าที่ตั้งไว้ โดยมียอดวงเงินอนุมัติค้ำประกันสินเชื่อ 115,149 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 167 เทียบกับระยะเวลาเดียวกันปีก่อน มีการอนุมัติหนังสือค้ำประกันสินเชื่อ (LG) จำนวน 132,434 ฉบับ เพิ่มขึ้นร้อยละ 223 และช่วยลูกค้าใหม่ได้รับสินเชื่อ จำนวน 98,221 ราย เพิ่มขึ้นร้อยละ 222 ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS8 ตามโครงการย่อยได้แก่ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SME สร้างไทย โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SMEs ดีแน่นอน และ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SME บัญชีเดียว
นอกจากนี้ ในช่วงระหว่าง เดือนมีนาคม – 17 สิงหาคม 2563 ซึ่งเป็นช่วงที่ผู้ประกอบการ SME ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์ COVID-19 บสย. ยังช่วยผู้ประกอบการ SME ค้ำประกันสินเชื่อได้จำนวน 117,508 ราย โดยจำแนกลูกค้าตามโครงการต่างๆ ได้แก่ โครงการ บสย. SME สร้างไทย วงเงิน 49,869 ล้านบาท จำนวน 21,004 ราย และโครงการทั่วไปภายใต้ โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS 8 อีกจำนวน 35,694 ล้านบาท จำนวน 13,143 ราย
โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SME ไทยชนะ ซึ่งเป็นโครงการที่ บสย. ดำเนินการเอง จำนวน 2,601 ล้านบาท จำนวน 406 ราย และโครงการค้ำประกันสินเชื่อกลุ่มอาชีพอิสระ ผ่านโครงการค้ำประกันสินเชื่อไมโคร 3 วงเงิน 6,547 ล้านบาท จำนวน 82,955 ราย
สำหรับการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2563 ที่ผ่านมา ซึ่งครม.มีมติเห็นชอบการทบทวนมติคณะรัฐมนตรีและเสนอมาตรการช่วยเหลือ SME เพิ่มเติม ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ เพื่อแก้ไขปัญหาข้อติดขัดในการดำเนินโครงการเพื่อให้ผู้ประกอบการ SME มีสภาพคล่อง สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ทั่วถึงและเพียงพอ 3 โครงการ ได้แก่
1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS Soft Loan พลัส วงเงิน 57,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SME ที่มีคุณสมบัติตาม พ.ร.ก. Soft Loan แต่ยังไม่ได้รับสินเชื่อตาม พ.ร.ก. Soft loan เริ่มค้ำประกันและเก็บค่าธรรมเนียมในต้นปีที่ 3 นับจากวันที่ผู้ประกอบการ SME ได้รับสินเชื่อ ค้ำประกันสูงสุดต่อราย 100 ล้านบาท
2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ PGS ระยะที่ 8 หรือ “บสย. SME ชีวิตใหม่” วงเงิน 10,000 ล้านบาท สำหรับผู้ประกอบการ SME ทั่วไป วงเงินไม่เกิน 20 ล้านต่อรายรวมทุกสถาบันการเงิน ในอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1.75 ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี
3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Micro Entrepreneur ระยะที่ 3 วงเงิน 15,000 ล้านบาท ซึ่งมติ ครม.อนุมัติขยายเวลา จากเดิมสิ้นสุด วันที่ 23 กรกฎาคม 2563 เป็น สิ้นสุดวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ปัจจุบันมีวงเงินคงเหลือ 2,500 ล้านบาท คิดอัตราค่าธรรมเนียมร้อยละ 1 – 2 ต่อปี ระยะเวลาค้ำประกัน 10 ปี
ทั้งนี้ บสย. ยังดำเนินโครงการช่วยผู้ประกอบการ SMEs อีกจำนวน 4 โครงการได้แก่
1.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SME พลิกฟื้นท่องเที่ยว วงเงิน 3,700 ล้านบาท ปัจจุบันมีวงเงินคงเหลือ 1,300 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการ SME 1,400 ราย
2.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ Start-up & Innobiz วงเงิน 8,000 ล้านบาท ปัจจุบันมีวงเงินคงเหลือ 3,500 ล้านบาท คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการ SME 2,400 ราย
3.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. SME ไทยชนะ โครงการที่ บสย. ดำเนินการเอง วงเงิน 20,000 ล้านบาท เพื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 คาดว่าจะช่วยผู้ประกอบการ SME ได้ 12,000 ราย
4.โครงการค้ำประกันสินเชื่อ บสย. เพิ่มพูน (Direct Guarantee : DG) วงเงิน 1,200 ล้านบาท ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากวิกฤต COVID-19 ช่วยผู้ประกอบการ SME 240 ราย
นอกจากนี้ บสย. ยังเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อ โดยเปิดให้บริการให้คำปรึกษาทางการเงิน ครบวงจร ทั้งการขอสินเชื่อ การปรับโครงสร้างหนี้ ภายใต้ชื่อ “ศูนย์ที่ปรึกษาด้านการเงิน SME” (F.A. Center) เพื่อต่อยอดความสำเร็จและเพิ่มโอกาสการเข้าถึงสินเชื่อได้มากขึ้น ซึ่งจะมีการเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนกันยายน 2563
ด้วยการสร้างสรรรค์ ผลักดันโครงการต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนการเข้าถึงสินเชื่อ โดยใช้กลไกการ “ค้ำประกันสินเชื่อ” ผ่านมาตรการของรัฐ และโครงการของ บสย. มั่นใจว่า จะช่วยผลักดันให้ ผู้ประกอบการ SME ก้าวผ่านวิกฤต ไปได้ ด้วยบทบาทของการเป็น “นายธนาคารข้างถนน” ที่มาพร้อมกับภารกิจผลักดันให้ SME ต้องชนะ …! จะช่วยฟื้นวิกฤต SME ท่ามกลางสภาพปัญหาของผู้ประกอบการ SME ที่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อได้ ที่คาดว่าจะสามารถอนุมัติยอดค้ำประกันสินเชื่อได้มากกว่า 150,000 ล้านบาท และช่วยผู้ประกอบการเข้าถึงสินเชื่อได้มากกว่า 120,000 ราย