เซินเจิ้นแปลงรถไฟใต้ดินเป็น “รถด่วนแก้จน” ช่วยโฆษณาสินค้าท้องถิ่น


รถไฟใต้ดินขบวนหนึ่งที่ให้บริการในนครเซินเจิ้น มณฑลกว่างตง (กวางตุ้ง) ทางตอนใต้ของจีน เริ่มติดตั้งป้ายสินค้าอาหารเฉพาะถิ่นจากพื้นที่ติดกับดักความยากจนจาก 9 มณฑลทั่วจีนบนพื้นที่โฆษณาของขบวนรถตั้งแต่วันเสาร์ (17 ต.ค.) ที่ผ่านมา

ผู้โดยสารขบวนรถไฟ “รถด่วนแก้จน” สามารถเข้าถึงร้านค้าออนไลน์ และสั่งซื้อผลิตภัณฑ์การเกษตรที่มาจาก 54 อำเภอในมณฑลต่าง ๆ ด้วยการสแกนรหัสคิวอาร์ (QR) ที่แนบบนรูปภาพผลิตภัณฑ์ที่ติดโฆษณาได้อย่างสะดวกสบาย

ทั้งนี้ วันเสาร์ (17 ต.ค.) ถือเป็นวันครบรอบปีที่ 7 ของวันบรรเทาความยากจนแห่งชาติ (National Poverty Relief Day) และปีที่ 28 ของวันขจัดความยากจนนานาชาติ (International Day for the Eradication of Poverty)

สำนักงานบรรเทาความยากจนเทศบาลเมืองเซินเจิ้น เผยว่าแผนริเริ่มใช้รถไฟใต้ดินส่งเสริมการบรรเทาความยากจนนั้นถือเป็นการใช้ประโยชน์จากพื้นที่ต่าง ๆ ความครอบคลุมกว้างขวาง และการไหลเวียนของผู้โดยสารจำนวนมากของระบบรถไฟใต้ดิน ซึ่งเป็นการสร้างจิตวิญญาณแห่งการสนับสนุนความพยายามขจัดความยากจนขั้นสูงสุด (absolute poverty) ของชาติ

ด้วยการเติบโตอย่างรวดเร็วตลอด 40 ปี ปัจจุบันเซินเจิ้นครองอันดับ 5 ของเมืองเอเชียในด้านผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ซึ่งขยายตัวด้วยอัตรารายปีถึงร้อยละ 20.7 อยู่ที่ 2.7 ล้านล้าน (ราว 12.59 ล้านล้านบาท) ในปี 2019

ทั้งนี้ เซินเจิ้นมีการส่งเสริมการจำหน่ายสินค้าแก้จนในซูเปอร์มาร์เก็ตอย่างแข็งขัน โดยตลอดปี 2020 เซินเจิ้นจัดซื้อสินค้าบรรเทาความยากจนมากกว่า 9 พันล้านหยวน (ราว 4.19 หมื่นล้านบาท) จาก 832 อำเภอยากจนทั่วประเทศ และจาก 11 เมืองที่มีการพัฒนาระดับต่ำในกว่างตง

ที่มา: สำนักข่าวซินหัว