ทีมวิจัยนาโนเทค อวดนวัตกรรมใหม่! แผ่นกรองอากาศต้านรา-แบคทีเรีย สกัด PM2.5 เผยต่อยอดได้ไกล ประยุกต์ใช้กับการเคลือบในอุตสาหกรรมหลากหลาย
เมื่อเร็วๆ นี้ “ณัฏฐพร พิมพะ” หัวหน้าทีมวิจัยนาโนเทคโนโลยีเพื่อสิ่งแวดล้อม กลุ่มวิจัยวัสดุผสมและการเคลือบนาโน ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ (นาโนเทค) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษาวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ทีมวิจัยนาโนเทคประสบความสำเร็จในการพัฒนานวัตกรรมแผ่นกรองอากาศต้านรา-แบคทีเรีย
โดยนวัตกรรมนี้พัฒนามาจากโจทย์คือแผ่นกรองอากาศที่มีในรถยนต์ทั่วไป ซึ่งมีความสามารถในการกรองอนุภาคของฝุ่น, จุลินทรีย์และ เชื้อรา ได้ตามขนาดของช่องว่าง หรือรูของแผ่นกรองอากาศ ขณะที่จุลินทรีย์และเชื้อรา ที่มีขนาดใหญ่กว่ารูกรอง จะสะสมอยู่บนพื้นผิวของแผ่นกรองอากาศ ดังนั้นจึงมีโอกาสที่จะเจริญเติบโต และเพิ่มจำนวนเมื่ออยู่ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสม และหากแผ่นกรองเสื่อมสภาพลง สิ่งมีชีวิตเหล่านี้อาจหลุดลอยออกมาปนเปื้อนกับอากาศ และมีผลกระทบต่อระบบทางเดินหายใจของผู้ใช้งาน เกิดเป็นโรคภูมิแพ้, ปอดอักเสบ เป็นต้น
“แผ่นกรองอากาศสำหรับรถยนต์ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียและเชื้อรา เป็นการพัฒนาแผ่นกรองอากาศในรถยนต์เพื่อช่วยป้องกันและกำจัดเชื้อจุลินทรีย์ อาศัยการทำงานของอนุภาคนาโนที่เคลือบบนแผ่นกรองอากาศเพื่อยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์และเชื้อรา จุดเด่นของแผ่นกรองอากาศที่พัฒนาขึ้นนั้น ยับยั้งได้ทั้งเชื้อแบคทีเรียและเชื้อราได้ โดยที่มีต้นทุนการผลิตต่ำและกระบวนการผลิตสารเคลือบที่ไม่ซับซ้อน
.
“กระบวนการเคลือบแผ่นกรองอากาศ จะประยุกต์ใช้กับการเคลือบในอุตสาหกรรม และลักษณะทางกายภาพของแผ่นกรองอากาศภายหลังการเคลือบไม่มีการเปลี่ยนแปลง เช่น สี, การขึ้นจีบแผ่นกรอง, และไม่กระทบการผ่านของอากาศ” หัวหน้าทีมวิจัยนาโนเทค กล่าว
ด้าน “อัมพร ศรีลาศักดิ์” กรรมการผู้จัดการ บริษัท เอเทค ฟิลเตรชั่น จำกัด ชี้ว่า รถทุกคันต้องมีแผ่นกรองอากาศ ในขณะที่พฤติกรรมผู้บริโภคปัจจุบัน ใส่ใจเรื่องของสุขภาพ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่ต้องเผชิญปัญหาฝุ่นและมลภาวะทางอากาศ หากเพิ่มประสิทธิภาพแผ่นกรอง ให้คุณภาพอากาศในห้องโดยสารดีขึ้น จะเป็นทางเลือกใหม่
ผลงานวิจัยนี้ผ่านการทดสอบประสิทธิภาพการยับยั้งเชื้อราและแบคทีเรีย ตามวิธีการทดสอบมาตรฐานทั้ง Antifungal activity, assessment on textile material: AATCC TM30:2017 (test III), CLSI M2-A11: Performance standards for antimicrobial disk susceptibility tests (Clear zone Test) และParticulate efficiency tests are followed by ISO16890 Classification ISO ePM10 (กรองฝุ่นขนาด 0.3-10 ไมครอน) ด้วยการทดสอบประสิทธิภาพดังกล่าว จึงช่วยป้องกันฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งมีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ได้
นอกจากนี้ มีการทดสอบการใช้งานโดยนำไปกรองอากาศในรถยนต์ ที่มีขนาดห้องโดยสารต่างกัน ทดลองใช้จนถึงประมาณ 13,000 กิโลเมตร พบว่ายังมีประสิทธิภาพในการยับยั้งแบคทีเรีย และไม่พบการหลุดของอนุภาคนาโนออกจากแผ่นกรอง