ไทยถือเป็นผู้ผลิตและส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารรายใหญ่ของโลก และอย่างที่รู้กันดีว่าอินเดียเป็นประเทศขนาดใหญ่ ซึ่งคนอินเดียนับถือศาสนาอิสลามเป็นอันดับ 2 คิดเป็น 14.23% หรือกว่า 172,250,000 คน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในรัฐชัมมูและแคชเมียร์ รัฐอัสสัม รัฐเบงกอลตะวันตก รัฐเกรละ รัฐอุตตรประเทศ จึงถือเป็นโอกาสที่ดีในการส่งออก สินค้าฮาลาล ไปประเทศอินเดีย สำหรับการส่งออกสินค้าฮาลาล ต้องทราบถึงกฎระเบียบต่างๆ เพื่อให้การซื้อขายเป็นไปได้สะดวกและเพื่อความมั่นใจของผู้บริโภค โดยมีกฎระเบียบที่สำคัญ ได้แก่ กฎระเบียบการนำเข้าสินค้าสู่อินเดีย อัตราภาษีนำเข้า โดยเฉพาะสินค้าสำหรับชาวมุสลิมต้องได้ใบรับรองฮาลาล ซึ่งขอได้ที่หน่วยงานรับรองฮาลาลของอินเดีย เช่น Halal India Private Limited, Halal Certification Services India Private Limited และ Jamiat Ulama-i-Hind Halal Trust มีค่าใช้จ่ายราว 50,000 รูปี แต่ค่าธรรมเนียมจะต่างกันไปตามหน่วยงาน ซึ่งจะแบ่งตามประเภทของกิจการ จึงต้องขอรับจากหน่วยงานรับรองดังต่อไปนี้
- อาหาร เครื่องดื่ม
- ร้านอาหาร
- อุตสาหกรรม
- โรงฆ่าสัตว์
- โกดังและที่เก็บของ
- การอนุญาตผลิตภัณฑ์
เรื่องกฎการนำเข้า การคัดกรอง ตรวจสอบการผลิต การจำหน่ายและการกระจายสินค้า จะต้องปฏิบัติตามหน่วยงานกำกับดูแลความปลอดภัยด้านอาหารของอินเดีย Food Safety and Standards Authority of India (FSSAI) เพื่อความปลอดภัยก่อนถึงมือผู้บริโภค โดยเฉพาะเป็นสินค้าควบคุมพิเศษ อย่าง วัตถุดิบทางการเกษตร ผัก ผลไม้ หรืออาหารแปรรูป โดยต้องได้ใบรับรอง NOC (No Objection Certificate) จาก FSSAI ควบคู่กับการยืนยันจาก NCC (National Codex Committee) ซึ่งหมายถึงผลิตภัณฑ์อาหารได้ผ่านการตรวจสอบเรียบร้อยและสามารถนำออกจากคลังสินค้าศุลกากร พร้อมกระจายสู่ตลาดได้ โดยต้องมีเอกสารครบถ้วน เช่น ใบรับรองแหล่งกำเนิด รายงานผลวิเคราะห์เรื่องสารปนเปื้อน จากแลป รวมถึงรายงานสุขอนามัยพืชและการติดฉลาก