ลิ้นจี่ แม่กลอง สินค้า GI ขึ้นชื่อของสมุทรสงคราม กับเหตุการณ์ล้มแล้วลุกจนเกือบสิ้นชื่อ


ย่างเข้าสู่วันที่มีพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล มีลมหนาวมา 3-4 วันแล้ว หลายคนอาจไม่ค่อยจะตื่นเต้นดีใจกันสักเท่าไร เพราะรู้ว่าเมื่อลมหนาวผ่านมาแล้วก็จะผ่านไป เช่นเดียวกันสภาพอากาศทั่วไปของเมืองกรุงที่เป็นอย่างนี้มาหลายปีแล้ว

แต่ในพื้นที่หนึ่ง อากาศหนาวและอุณหภูมิที่ลดต่ำ กลับทำให้พวกเขาดูตื่นเต้นและตั้งตารอนับวันเวลาขอให้อากาศเช่นนี้อยู่อีกสักสัปดาห์ เพื่อที่ผลผลิตของเหล่าเกษตรกรจะได้ติดดอกออกผล เพื่อสร้างรายได้จำนวนไม่น้อยให้กับเกษตรกร และนี่คือความหวังของเกษตรกรผู้ปลูกลิ้นจี่พันธุ์ค่อม ลุ่มน้ำแม่กลอง จ.สมุทรสงคราม

กว่า 3-4 ปีมาแล้วผลผลิตของลิ้นจี่พันธุ์ค่อม จ.สมุทรสงคราม ไม่เคยออกสู่ตลาดให้ผู้บริโภคได้มีโอกาสรับประทาน จนทำให้เกษตรกรผู้ปลูกต่างท้อใจ บางรายโค่นต้นลิ้นจี่ทิ้งก่อนปลูกส้มโอพันธุ์ขาวใหญ่ทดแทน ด้วยราคาที่กำลังไปได้ในตลาดผลไม้

ชัยยันต์ เจียมศิริ ประธานกลุ่มเครือข่ายสภาเกษตรกรจังหวัดสมุทรสงคราม จึงได้รับข้อมูลที่น่าสนใจว่า ในอดีตพื้นที่ของ จ.สมุทรสงคราม ทั้ง อ.บางคนที และ อ.อัมพวา มีพื้นที่เพาะปลูกลิ้นจี่เกือบประมาณ 20,000 ไร่ จนกระทั่งปัจจุบันเหลือเพียงประมาณ 5,700 ไร่ เนื่องจากกว่า 4 ปีแล้ว ที่ผลผลิตลิ้นจี่ จ.สมุทรสงคราม ไม่เคยออกสู่ตลาดเลย จนกระทั่งในปีนี้

“ที่ผ่านมา ลิ้นจี่ที่เราเห็น ขายอยู่ริมถนนเส้นพระราม2 คือ ลิ้นจี่เหนือ ที่มาสวมรอยเป็นลิ้นจี่สมุทรสงคราม จนกระทั่งปีที่แล้ว เมื่อผลผลิตลิ้นจี่ สมุทรสงคราม ออกสู่ตลาดกว่า 4,000 ตัน ทำให้จังหวัดขอความร่วมมือจากพ่อค้าแม่ค้าในพื้นที่ริมถนนพระราม 2 เขต จ.สมุทรสงครามให้หยุดขายลิ้นจี่เหนือ และขายผลผลิตในพื้นที่แทน

ส่วนที่นอกเหนือจากเขตพื้นที่แม่กลองก็ยังเป็นลิ้นจี่สวมรอยอยู่ ในอดีตลิ้นจี่ของเราอาจเป็นที่รู้จักเฉพาะในพื้นที่ แต่ขณะนี้เมื่อจังหวัดและหน่วยงานต่างๆ ได้ทำการประชาสัมพันธ์ ก็พบว่าทั่วประเทศรู้จักและมีความต้องการ”

แต่วิกฤติของลิ้นจี่ แม่กลอง นั้นยังไม่หมดไป แม้เกษตรกรหลายรายจะมีรายได้จากผลผลิตเมื่อเดือนเมษายนกว่า 400 ล้านบาทแล้ว ก็ยังต้องลุ้นกันต่อว่า ภายในช่วงเดือน พ.ย.-ม.ค.นี้ ลิ้นจี่จะติดดอกหรือไม่ เนื่องจากภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลง รองลงมาคือความรู้เรื่องเทคโนโลยีและผลงานวิจัยที่ยังไม่แพร่หลายในหมู่เกษตรกรทั่วไป

“ถามว่า ทำไมลิ้นจี่ จึงมีผลผลิตออกมาสร้างรายได้ให้กับเกษตรกร เมื่อเดือนเมษายน 61 ต้องบอกว่า เพราะเครือข่ายเกษตรกรได้รวมตัวกันศึกษาและทำงานวิจัยร่วมกับ ม.เกษตรศาสตร์ และคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)

ซึ่งเริ่มมาตั้งแต่ปี 2559 ด้วยเทคโนโลยีของการควั่นกิ่ง แต่เหนืออื่นใดปัจจัยเรื่องของสภาพอากาศยังคงมีผลสำคัญที่สุด หากอากาศของแม่กลองเย็นลง มีอุณภูมิประมาณ 19-20 กว่าองศา มีระยะเวลาประมาณ 1 สัปดาห์ก็จะทำให้ลิ้นจี่ออกดอก แต่จะต้องขึ้นอยู่กับการดูแลต้นลิ้นจี่ด้วย

ต้องสังเกตหากต้นลิ้นจี่แตกใบอ่อนไปแล้ว 3 รอบ อากาศเย็นพอดีลิ้นจี่จะออกดอกให้ผลผลิตได้ แต่ถ้าแตกใบอ่อนรอบที่ 4 ก็จบ ระหว่างออกดอก หากฝนตกชะดอกลิ้นจี่ ผลผลิตที่ได้ก็จะน้อยลงอีก ดังนั้นจึงเป็นเรื่องยากที่จะบอกได้ว่าลิ้นจี่จะออกผลผลิตได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร”

ดังนั้นต่อจากนี้ก็คงจะต้องลุ้นว่าอากาศหนาวในขณะนี้จะอยู่ทันพอให้ลิ้นจี่ได้ปรับตัวและออกดอกหรือไม่ ขณะเดียวกันต่อจากนี้ เครือข่ายเหล่านี้จะลงพื้นที่เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรสวนลิ้นจี่ ผ่านศูนย์วิจัยชุมชน “สวนลิ้นจี่ 200 ปี” ด้านเทคโนโลยีการควั่นกิ่ง และการดูแลรักษาต้นลิ้นจี่

เหนือสิ่งอื่นใดคือการสร้างรายได้อย่างยั่งยืนให้กับเกษตรกรสวนลิ้นจี่ เพื่อการอนุรักษ์ต้นลิ้นจี่พันธุ์ค่อม สินค้า GI เฉพาะถิ่นเอาว้า เบื้องต้น “ชัยยันต์” กล่าวถึงแนวทางการพัฒนาพื้นที่สู่การท่องเที่ยวชุมชน ด้วยการนำเอาวัฒนธรรมเข้ามาผสมผสานกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งน่าจะเป็นอีกหนึ่งทางออกการสร้างรายได้มากกว่าจะเป็นการคอยฟ้าคอยฝนอย่างที่ผ่านมา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

**ผลไม้ไทยฮิตในจีน ยอดขาย 8 เดือนแรก พุ่ง 24,000 ลบ.**

**10 ข้าวไทย ที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสินค้า GI**