ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า เหตุการณ์ประท้วงที่ฮ่องกง ยังไม่แน่นอนว่าจะจบลงเมื่อใดและมีความเสี่ยงที่จะยกระดับความรุนแรงขึ้นอีก ซึ่งไม่ส่งผลดีต่อการส่งออกของไทยไปฮ่องกงในช่วงที่เหลือของปีอย่างแน่นอน โดยคาดว่าอาจฉุดให้การส่งออกไปฮ่องกงสูญเสีย 500-900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทำให้ทั้งปี 2562 การส่งออกของไทยไปฮ่องกงมีความเสี่ยงหดตัวสูงขึ้นมาที่ราว 9-12% จากที่ในช่วง 6 เดือนแรกปี 2562 หดตัวอยู่แล้วที่ 9.4% (YoY) โดยตลาดฮ่องกงมีความพิเศษสำหรับไทยตรงที่สินค้าที่ส่งออกจากไทยไปยังฮ่องกงราว 60% นั้นใช้ฮ่องกงเป็นทางผ่านไปยังตลาดจีนซึ่งสินค้ากลุ่มนี้มีทิศทางอ่อนไหว และสินค้าที่เหลือเป็นการใช้บริโภคภายในเกาะฮ่องกงซึ่งผลจากความอ่อนไหวของเศรษฐกิจฮ่องกงนั้นกระทบกับสินค้ากลุ่มหลังมากกว่า
โดยกรณีที่เหตุการณ์ไม่ขยายวงกว้างไปกว่านี้และยุติลงได้โดยเร็ว ผลกระทบต่อการส่งออกไทยไปฮ่องกงจะจำกัดที่ 500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งสืบเนื่องมาจากสินค้าอุปโภคบริโภคของไทยไปฮ่องกงอาจอ่อนไหวมากยิ่งขึ้นในช่วงที่เหลือของปีตามความหวั่นไหวทางเศรษฐกิจของฮ่องกงเป็นหลัก กลุ่มสินค้าที่มีความเสี่ยงคำสั่งซื้ออ่อนแรงลงจากปัจจุบันอีกราวร้อยละ 20-30 ในช่วงที่เหลือของปี โดยเฉพาะในกลุ่มอัญมณีและเครื่องประดับ ผักและผลไม้ ข้าว ไก่แปรรูป ไข่ไก่สด และอาหารทะเลกระป๋องและผลไม้กระป๋อง เป็นต้น
หากกรณีที่เหตุการณ์ยกระดับความรุนแรงมีผลทำให้ภาคธุรกิจในประเทศหยุดชะงักรวมทั้งส่งผลให้การขนส่งทางน้ำติดขัด ผลกระทบต่อการส่งออกไทยไปฮ่องกงจะเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 900 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ซึ่งเป็นทั้งผลจากสินค้าอุปโภคบริโภคที่ทรุดตัวยิ่งกว่าเดิม บวกกับผลที่มาจากการส่งออกในกลุ่มสินค้าขั้นกลางของไทยที่ส่วนใหญ่ใช้ฮ่องกงเป็นทางผ่านไปยังจีน โดยผลกระทบที่มีต่อสินค้าส่วนนี้ส่วนหนึ่งมาจากการชะลอตัวตามความไม่แน่นอนของคำสั่งซื้อที่มาจากจีนที่อยู่ท่ามกลางสงครามการค้าเป็นหลัก บวกกับการติดขัดในการขนส่งที่จะเกิดเพียงในระยะสั้นเพียง 1-2 เดือนเท่านั้น หลังจากนั้นผู้ประกอบการสามารถใช้เส้นทางการเดินเรือทางอื่นขนส่งไปยังจีนได้โดยตรงทดแทนการส่งสินค้าผ่านฮ่องกง อาทิ ผ่านทางท่าเรือเซินเจิ้นและท่าเรือกวางโจวในมณฑลกวางตุ้งของจีน ซึ่งสินค้าไทยที่ผ่านช่องทางนี้ ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า อุปกรณ์โทรศัพท์ ทรานซิสเตอร์และไดโอท และวงจรพิมพ์ เป็นต้น นอกจากนี้ ในด้านการนำเข้าของไทยที่สินค้าจีนก็ใช้ฮ่องกงเป็นทางผ่านมาไทยก็ไม่กระทบมากนัก เพราะส่วนใหญ่ไทยนำเข้าอัญมณีและเครื่องประดับ แต่ผลกระทบกลับตกอยู่ประเทศที่มีห่วงโซ่การผลิตที่เชื่อมโยงกับจีนและใช้ฮ่องกงเป็นทางผ่านมากกว่าโดยสินค้าที่มีความเสี่ยงอยู่ในกลุ่มที่ต้องพึ่งพาชิ้นส่วน ICs ชิ้นส่วนเครื่องจักรกล HDDs ทรานซิสเตอร์/ไดโอท ชิ้นส่วนโทรทัศน์ แผงวงจรไฟฟ้า และเครื่องพิมพ์ เป็นต้น
นอกจากนี้ ในฐานะที่ฮ่องกงเป็นประตูการค้าของจีน ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า การประท้วงปิดสนามบินในฮ่องกงส่งผลกระทบต่อการค้าของจีนไม่มาก เนื่องจากการส่งออกของฮ่องกงผ่านทางอากาศมีปริมาณค่อนข้างน้อย และถ้าหากเหตุการณ์ขยายวงรุนแรงจนมีผลต่อระบบการขนส่งทางน้ำก็อาจกระทบเฉพาะในระยะสั้นแต่ไม่กระทบต่อภาคการค้าโดยรวมของจีนเพราะผู้ส่งออกและนำเข้าของจีนสามารถปรับตัวเปลี่ยนไปใช้เส้นทางอื่นได้ แต่สิ่งที่เป็นผลพวงมากับการประท้วงครั้งนี้คงส่งผลต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของฮ่องกงซึ่งมีบทบาทสำคัญต่อภาคธุรกิจจีน อันจะยิ่งกดดันให้นักลงทุนพิจารณากระจายความเสี่ยงโดยการย้ายบริษัทสำนักงานใหญ่จากฮ่องกงไปยังประเทศอื่นๆ แทน เช่น สิงคโปร์ ไต้หวันหรือญี่ปุ่น รวมถึงการย้ายฐานการผลิตจากจีนไปยังประเทศอื่นๆ แทน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกของจีนในระยะยาวได้ ยิ่งสั่นคลอนเชื่อมั่นของนักลงทุนต่อจีน กดดันให้ค่าเงินหยวนอ่อนค่าลงไป