มีพื้นที่ปลูกต้นไม้ จะขายคาร์บอนเครดิตอย่างไร?

คำถามแรก ที่สำคัญมากๆ คือ คาร์บอนเครดิตคืออะไร ? คาร์บอนเครดิต คือศักยภาพในการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออก จากชั้นบรรยากาศของโลก มาคำนวณเป็นค่าเครดิต ให้สามารถซื้อ-ขายได้ เหมือนเป็นสินค้าประเภทหนึ่ง โดยหนึ่งเครดิต เท่ากับการสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1 ตัน เพื่อขายให้กับประเทศพัฒนาแล้วประเทศอุตสาหกรรม หรือแม้แต่เอกชนบางราย โดยประเทศหรือหน่วยงานเหล่านี้จะซื้อ Carbon Credit ไป เพื่อใช้ขยายขอบเขตหรือชดเชยการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของตนเอง และคาร์บอนเครดิต จะมีส่วนสำคัญในการทำธุรกิจในอนาคตเป็นอย่างมาก และเป็นเทรนด์ที่ทุกภาคส่วนกำลังมุ่งไป

 

 

กลไกซื้อขายคาร์บอน เครดิตในไทย

สำหรับ กลไกการซื้อขายคาร์บอนเครดิต ในไทย ที่จะทำให้ผู้ประกอบการและประชาชนอยู่ในเทรนด์รักษ์โลก และ keep the world นั้น ดำเนินการโดย องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) โดยคนทั่วไทย หรือภาคเอกชน ที่สนใจสามารถติดต่อขอคำแนะนำได้ที่ www.tgo.or.th เพียงแค่มีที่ดินปลูกต้นไม้ ก็สามารถเข้าสู่ธุรกิจนี้ได้แล้ว โดยการประเมินปริมาณคาร์บอนเครดิตที่สามารถซื้อขายได้ จะประเมินโดยองค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก

มีพื้นที่ปลูกต้นไม้จะขายคาร์บอนเครดิต อย่างไร? วิธี สร้างรายได้ จากคาร์บอนเครดิต ทำอย่างไร? โดยข้อมูลจาก องค์การบริหารก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) ระบุว่า สิ่งจะต้องมี ดังนี้

1. มีพื้นที่ปลูกต้นไม้ประเภทไม้ยืนต้นตั้งแต่ 10 ไร่ขึ้นไป
2. มีเอกสารสิทธิ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย หรือได้รับอนุญาตอย่างถูกต้องตามกฎหมาย
3. มีความรู้ในการประเมินการกักเก็บคาร์บอนและจัดทำเอกสารข้อเสนอโครงการ
4. มีเงินในการจ้างผู้ประเมินภายนอกมาตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบข้อมูลก๊าซเรือนกระจก

ปัจจุบันมีโครงการที่ได้รับการขึ้นทะเบียน (ทั่วไป) กับ T-VER โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย 310 โครงการ สามารถศึกษาข้อมูลการขึ้นทะเบียนโครงการและการรับรองคาร์บอนเครดิตจากเว็บไซต์ https://ghgreduction.tgo.or.th

 

 

คำถามที่ ยังคาใจ ประชาชนหลายส่วนคือ ถ้าหลายๆรายรวมกันเป็นวิสาหกิจชุมชน ได้ไหม ? เพราะเกษตรกรบางรายมีที่ดินไม่ถึง10ไร่? คำตอบคือ ผู้ที่อยากได้ คาร์บอนเครดิต ทำได้ โดย สามารถทำโครงการ T-VER (โครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย) ในรูปแบบของ โครงการแบบแผนงาน (Programme of Activities) โดยมีโครงการย่อยที่มีที่ตั้งหลายแห่งได้ แต่ประเภทโครงการต้องเหมือนกัน ใช้ระเบียบวิธีการ (Methodology) เดียวกัน ระยะเวลาในการคิดเครดิตของโครงการย่อยเริ่มและจบไม่เหมือนกันก็ได้ แต่ที่สำคัญต้องมีหน่วยงานกลางที่จัดทำข้อเสนอโครงการ T-VER แบบแผนงาน รวบรวมข้อมูลทั้งหมดของโครงการย่อยเพื่อจัดทำข้อเสนอโครงการย่อยของแต่ละกลุ่มแยกกัน

หรือจะทำแบบควบรวม (Bundled Projects) โดยเป็นโครงการที่มีที่ตั้งหลายแห่ง โดยทุกโครงการย่อยเป็นประเภทโครงการเดียวกัน ใช้ระเบียบวิธีการ (Methodology) เดียวกัน แต่ในส่วนของระยะเวลาคิดเครดิตของทุกแห่งต้องเริ่มพร้อมกันและจบพร้อมกัน และมีหน่วยงานกลางที่รวบรวมข้อมูลและจัดทำข้อเสนอโครงการเล่มเดียว

กรณีพื้นที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง สามารถเข้าโครงการ คาร์บอนเครดิต กับ อบก. ได้หรือไม่ ? คำตอบคือ ผู้มีสิทธิ์ยื่นคำขอเพื่อดำเนินการโครงการคาร์บอนเครดิต กับ อบก. ต้องเป็นผู้ที่ ยื่นความประสงค์ขอดำเนินโครงการปลูกป่าร่วมกับ ทช.

กรณีพื้นที่ของกรมป่าไม้ นั้น ผู้มีสิทธิ์ยื่นคำขอเพื่อดำเนินการโครงการคาร์บอนเครดิต กับ อบก. ต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติในข้อใดข้อหนึ่ง ดังนี้

1. เป็นผู้ได้รับอนุมัติตาม ม.19 พ.ร.บ.ป่าสงวนแห่งชาติ
2. เป็นผู้ได้รับอนุญาตตาม ม.54 พ.ร.บ.ป่าไม้ และ ม. 13/1 ม.16 ม.20 พรบ.ป่าสงวนแห่งชาติ
3. เป็นผู้ได้รับอนุมัติให้ใช้ประโยชน์พื้นที่สวนป่าของกรมป่าไม้ตาม มติ ครม.
กรณีพื้นที่ของกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช

ผู้มีสิทธิ์ยื่นคำขอเพื่อดำเนินการโครงการคาร์บอนเครดิต กับ อบก. ต้องเป็นผู้ที่มีคุณสมบัติในข้อใดข้อหนึ่งดังนี้

1. เป็นผู้ได้รับอนุญาตตาม ม. 23 ม.28 ม.64 พ.ร.บ.อุทยานฯ
2. เป็นผู้ได้รับอนุญาตตาม ม.56 ม.67 ม.121 พ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า

ที่มา: คณะกรรมการพลังงานหอการค้าไทย