รู้จัก ตราสัญลักษณ์ “Q” การยกระดับผู้ประกอบการ ด้วย “สินค้าเกษตรมูลค่าสูง”
สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ (มกอช.) ร่วมขับเคลื่อนนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” และนโยบาย “1 ท้องถิ่น 1 สินค้าเกษตรมูลค่าสูง” เพื่อให้ผู้ประกอบการทำการเกษตรตรงตามความต้องการของตลาดหรือผู้บริโภค ใช้นวัตกรรมเพิ่มศักยภาพในการจัดการการผลิต จนสามารถยกระดับรายได้สูงขึ้น
โดยกลุ่มสินค้าเกษตรมูลค่าสูงแบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 สินค้าเกษตรที่มีการส่งออก กลุ่มที่ 2 สินค้าที่มีศักยภาพในการพัฒนาเพื่อการส่งออกหรือแปรรูป และกลุ่มที่ 3 สินค้าเกษตรและบริการเชิงสร้างสรรค์ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่น เช่น functional food สิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (Geographical Indication : GI)
มกอช. จึงส่งเสริมให้เกษตรกรมีการแสดงเครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร (เครื่องหมาย Q) เพื่อบ่งบอกถึงคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าที่ได้รับการรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร อันจะนำไปสู่ความสามารถในการต่อยอดหรือพัฒนาสินค้าเกษตรแปลงใหญ่สู่เกษตรมูลค่าสูงได้
เครื่องหมาย Q คือ เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร ซึ่งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เห็นควรให้มีการใช้เครื่องหมายรับรองให้เป็นเอกลักษณ์เดียว เพื่อรณรงค์และส่งเสริมให้เป็นที่รู้จักแพร่หลาย รวมทั้งให้เกิดความชัดเจนในกระบวนการผลิต โดยการตรวจสอบรับรองแก่เกษตรกร ผู้ผลิต ผู้ประกอบการ และกระตุ้นเตือนใช้รับรองกับสินค้าพืช ปศุสัตว์ และประมง ตลอดกระบวนการ From Farm to Table เพื่อแสดงถึงคุณภาพและความปลอดภัย เพื่อให้สินค้าเกษตรและอาหารของไทย สามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างมีศักยภาพ ตามนโยบายที่กำหนดให้ ปี 2547 เป็นปีแห่งความปลอดภัยด้านอาหารหรือ Food Safety Year แบ่งเป็น 2 ประเภท ได้แก่ เครื่องหมายรับรองสินค้า, เครื่องหมายรับรองระบบ และเครื่องหมายมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร
ประเภทของการรับรอง
การรับรองสินค้า (Product Certification) หมายถึง การตรวจสอบให้การรับรองสินค้าที่เป็นผลิตภัณฑ์สุดท้าย (Finished product) โดยมีการสุ่มตัวอย่าง การทดสอบ และการตรวจสอบว่าสินค้ามีคุณลักษณะทางด้านคุณภาพและความปลอดภัยเป็นไปตาม มาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหาร และมาตรฐานทั่วไปด้านความปลอดภัย เช่น สารพิษตกค้าง สารปนเปื้อน รวมทั้งมีการตรวจประเมินระบบการผลิตหรือกระบวนการผลิตว่าผู้ผลิตมีความ สามารถในการรักษาคุณภาพและความปลอดภัยของสินค้าที่ผลิตอย่างสม่ำเสมอได้ตาม มาตรฐานสินค้า เช่น มาตรฐานเนื้อสุกร, มาตรฐานกระเจี๊ยบเขียว, กุ้งก้ามกาม เป็นต้น
การรับรองระบบ คือการตรวจประเมินให้การรับรองกระบวนการผลิตโดยคลอบคลุมกระบวนการผลิตสินค้าเกษตรและอาหารให้ได้ตามมาตรฐาน เช่น การปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ การปฏิบัติทางประมงที่ดี (Good Agricultural Practice (GAP)) เกษตรอินทรีย์ (Organic Agriculture) การปฏิบัติที่ดี หรือ หลักเกณฑ์การปฏิบัติด้านสุขลักษณะ หรือ หลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับสุขลักษณะอาหาร (Good Manufactural Practice (GMP)) ระบบการวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุมและแนวทางในการนำไปใช้ (Hazard Analysis Critical Control Point (HACCP)
นอกจากนี้ มกอช. ยังได้พัฒนาโซลูชั่นการแสดงข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ โดยได้นำระบบตามสอบสินค้าเกษตร ACFS Traceability (QR trace on cloud) ซึ่งเป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่อำนวยความสะดวกให้ผู้ผลิตสินค้าสามารถแสดงข้อมูลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตผ่านทาง QR Code และเป็นเครื่องมือสำคัญในการติดตามตรวจสอบที่มาของสินค้า ความเชื่อมั่นเรื่องคุณภาพ มาตรฐาน ความปลอดภัยให้กับผู้บริโภค อีกทั้งมีประโยชน์ในการติดตามตรวจสอบกรณีที่สินค้ามีปัญหาหรือถูกร้องเรียนอีกด้วย