ไปรษณีย์ไทยทำกำไรครึ่งปีแรก 136 ล้านบาท ลบภาพจำองค์กรยุคเก่าไม่อยากปรับตัว
“ไปรษณีย์ไทย” ชื่อนี้มีมาอย่างยาวนานในประเทศไทย โดยให้บริการส่งจดหมาย ไปรษณียบัตร แต่ด้วยโลกที่หมุนไปข้างหน้า และทำให้ต้องปรับเปลี่ยนบริการให้เข้ากับยุคสมัย ไม่ตกเทรนด์ ตอบโจทย์ผู้คนมากขึ้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา ธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ธุรกิจโลจิสติกส์ ตลอดจนการขายของออนไลน์ กลายเป็นที่นิยมของผู้บริโภคยุคนี้ ที่ชื่นชอบความสะดวกสบาย ทำให้เกิดผู้เล่นหน้าใหม่ที่มาคอยให้บริการเรื่องนี้มากขึ้น สำหรับไปรษณีย์ไทยแล้ว แม้จะเป็นองค์กรที่สำคัญสำหรับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ แต่ความท้าทายที่เกิดขึ้นทำให้ต้องปรับโครงสร้างองค์กรครั้งสำคัญ สามารถพลิกธุรกิจจากขาดทุนกลับมาทำกำไรอีกครั้ง
การปรับเปลี่ยนที่สำคัญของไปรษณีย์ไทย คือการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ รวมถึงการปรับลดต้นทุน และการปรับลดพนักงานจากจำนวน 42,000 คนให้ลดลงเหลือ 38,000 คน ให้มีความเหมาะสม
ผลประกอบการบริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ย้อนหลัง
– ปี 2564 รายได้รวม 21,734 ล้านบาท ขาดทุน 1,594 ล้านบาท
– ปี 2565 รายได้รวม 19,984 ล้านบาท ขาดทุน 3,046 ล้านบาท
– ปี 2566 รายได้รวม 20,934 ล้านบาท กำไร 79 ล้านบาท
สำหรับครึ่งปีแรกในปี 2567 (ม.ค.-มิ.ย.) ไปรษณีย์ไทยทำรายได้ถึง 10,602 ล้านบาท กำไร 136.60 ล้านบาท โดยกลุ่มธุรกิจบริการระหว่างประเทศมีรายได้ 1,293.31 ล้านบาท คิดเป็น 12.20% ของรายได้รวมปลายทาง ซึ่งประเทศที่ได้รับความนิยมในการส่งระหว่างประเทศ 5 อันดับ ได้แก่ สหรัฐฯ, ญี่ปุ่น, สหราชอาณาจักร, เกาหลีใต้, ออสเตรเลีย
ส่วนสินค้าที่นิยมส่ง คือ เสื้อผ้า ขนมและอาหารแห้ง สินค้ากลุ่มสุขภาพและความงาม เอกสาร ของสะสม อย่างไรก็ตาม คาดการณ์ว่าในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ กลุ่มธุรกิจบริการระหว่างประเทศจะทำรายได้เพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 1,800 ล้านบาท โดยบริการเรือธงที่ทำรายได้หลักได้แก่ง บริการ EMS World บริการพัสดุไปรษณีย์ระหว่างประเทศ บริการส่งแบบลงทะเบียนระหว่างประเทศ บริการ ePacket
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเติบโตของเศรษฐกิจดิจิทัลทำให้การค้าออนไลน์ และการค้าขายระหว่างประเทศทั่วโลกขยายตัว มีการซื้อขายทั้งในและต่างประเทศอย่างคึกคัก ทำให้คาดการณ์ว่าสิ้นปี 2567 ตลาดอีคอมเมิร์ซจะมีมูลค่ากว่า 700,000 ล้านบาท ด้วยเหตุนี้ไปรษณีย์ไทยจึงวางบริการหลักเป็น “EMS World ส่งด่วน ทั่วโลก” ตอบสนองความรวดเร็วให้กับธุรกิจ
ไม่เพียงแค่นี้ ไปรษณีย์ไทยยังมองหาโอกาสให้กับธุรกิจเพื่อสร้างความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น การขนส่งที่หลากหลาย ทั้งทางอากาศโดยสายการบินพาณิชย์ ทำให้สินค้าส่งถึงปลายทางได้อย่างรวดเร็ว, การขนส่งทางภาคพื้นไปยังปลายทางประเทศเพื่อนบ้าน หรือการค้าชายแดน เช่น สปป.ลาว มาเลเซีย การขนส่งทางราง ซึ่งปัจจุบันกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและใช้เส้นทางรางจากไทย – ลาว – จีน, การขนส่งทางเรือ มีเส้นทางการขนส่ง อาทิ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ไต้หวัน สหรัฐอเมริกา เนเธอร์แลนด์ ซึ่งเส้นทางนี้จะดำเนินการส่งต่อทางรถยนต์ไปยังเมืองปลายทางในทวีปยุโรปจำนวน 10 ปลายทาง เป็นต้น
ที่มา: thailandpost