สำรวจโอกาสส่งออกสินค้าไทย จากการขยายอุตสาหกรรมธุรกิจบริการในอินเดีย
อุตสาหกรรมธุรกิจบริการในอินเดียมีแนวโน้มเติบโตอย่างมีนัยสําคัญ โดยคาดว่าตลาดจะมีมูลค่าถึง 247.31 ล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2567 และคาดว่าจะมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยร้อยละ 10.5 ต่อปี ในอีก 3 ปีข้างหน้า ซึ่งสัญญาณการขยายตัวที่มีแนวโน้มสดใสนี้มีปัจจัยมาจากความต้องการห้องพักหรูหราที่เพิ่มมากขึ้นเกินกว่าอุปทานที่มีอยู่ในปัจจุบัน
ปัจจัยหลักที่ขับเคลื่อนการเติบโต
- ภาคการท่องเที่ยว: มีส่วนขับเคลื่อนให้อุตสาหกรรมธุรกิจบริการเกิดการเติบโต กว่าร้อยละ 50 เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวในประเทศ ร้อยละ 30 เป็นกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างประเทศ และส่วนที่เหลือร้อยละ 20 เป็นกลุ่มธุรกิจการจัดประชุม สัมมนา การท่องเที่ยวเพื่อรางวัล การประชุมนานาชาติ และงานแสดงสินค้า หรือ MICE (Meetings, Incentives, Conferences, and Exhibitions) *การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมในอินเดียกําลังเติบโต โดยสมาคมโรงแรมและร้านอาหารของอินเดีย (Federation of Hotel & Restaurant Associations of India: FHRAI) รายงานว่าในปี 2566 อุตสาหกรรมธุรกิจบริการของอินเดีย มีอัตราการเข้าพักเพิ่มขึ้นร้อยละ 15 ในพื้นที่ที่มีการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม
- อุปสงค์และอุปทาน: แม้ว่าอินเดียจะมีอัตราการเพิ่มจํานวนห้องพักเฉลี่ยประมาณ 18,000 ห้องต่อปี แต่ก็ยังมีความต้องการมากกว่าอุปทาน ภาคธุรกิจโรงแรมกําลังเผชิญกับความต้องการที่มีสูง สําหรับในเมืองใหญ่ หรือเมืองหลักใน Tire I คาดว่ามีอัตราการเติบโตของอุปสงค์เฉลี่ยร้อยละ 10.8 ต่อปี ขณะที่อุปทานมีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยเพียงร้อยละ 8.0 ต่อปีเท่านั้น ขณะเดียวกันในเมืองระดับ Tier II และ Tier III มีความต้องการเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 13 ต่อปี เมื่อเทียบกับอุปทานที่มีอัตราการเติบโตเฉลี่ยเพียงร้อยละ 10 ต่อปี
- การขยายตัวและการลงทุน: จากรายงานของ JLL Hotel Investment Trends-India H1 2024 พบว่าในช่วงครึ่งแรกของปี 2567 การลงทุนภาคธุรกิจโรงแรมในอินเดียมีมูลค่าสูงถึง 93 ล้านเหรียญสหรัฐ
ทั้งนี้ อินเดียติดอันดับหนึ่งใน 100 ของประเทศที่เอื้ออำนวยต่อการดําเนินธุรกิจ และครองอันดับต้นของโลกในด้านการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศในสาขาอุตสาหกรรมสีเขียว รัฐบาลอินเดียกําลังปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยว โดยมุ่งเน้นไปที่การพัฒนาการท่องเที่ยวเรือสําราญ โดยมีศูนย์กลางที่ท่าเรือเจนไน กัว โคชิ มังกาลอร์ และมุมไบ โดยท่าเรือเหล่านี้จะมีสิ่งอํานวยความสะดวกต่างๆ เช่น โรงพยาบาล ห้างค้าปลีก ศูนย์การค้าและร้านอาหาร เป็นต้น
ด้วยความตระหนักถึงศักยภาพของอุตสาหกรรมการบริการ รัฐบาลจึงได้ริเริ่มโครงการเพื่อดึงดูดการลงทุน และสนับสนุนโครงสร้างพื้นฐาน โดยอนุญาตการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ ร้อยละ 100 ในกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร และศูนย์บริการการท่องเที่ยว ซึ่งในปีงบประมาณ 2567 รัฐบาลอินเดียได้จัดสรรเงิน 24,496.20 ล้านรูปี เพื่อสนับสนุนภาคการท่องเที่ยว ซึ่งเพิ่มขึ้นร้อยละ 44.7 จากงบประมาณปีก่อนหน้า
การนําเข้าโครงสร้างพื้นฐานของโรงแรมที่ขยายตัวเพิ่มขึ้น เพื่อสนับสนุนการขยายตัวของอุตสาหกรรม โรงแรม สามารถใช้สิทธิประโยชน์จากอัตราภาษีศุลกากรขาเข้าในการนําเข้าสินค้าสําหรับจัดตั้งหรือขยายโครงสร้างพื้นฐานของโรงแรม อินเดียเป็นผู้นําการนําเข้าสินค้าที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมโรงแรมระดับโลก รองลงมาคือ เวียดนาม และญี่ปุ่น โดยมีตลาดนําเข้าหลัก คือ เยอรมนี จีน และอิตาลี ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าอุตสาหกรรมธุรกิจบริการในอินเดียมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการเพิ่มการลงทุนและนโยบายของรัฐบาล เนื่องจากอินเดียตั้งเป้าที่จะกลายเป็นตลาดหลักของภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจบริการของโลก
สำหรับประเทศไทยนับเป็นหนึ่งในประเทศที่มีชื่อเสียงและเป็นที่ยอมรับในอุตสาหกรรมภาคธุรกิจบริการระดับโลก ไม่ว่าจะเป็นภาคการบริการด้านการท่องเที่ยว การโรงแรม หรือการบริการด้านสุขภาพ การที่รัฐบาลอินเดียให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรมธุรกิจบริการซึ่งกําลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง นับเป็นโอกาสอันดีของนักธุรกิจไทยที่จะแสวงหาความร่วมมือและขยายธุรกิจที่เกี่ยวข้องในตลาดอินเดีย โดยการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในการบริหารจัดการอุตสาหกรรมธุรกิจบริการ รวมถึงขยายตลาดสินค้าและบริการที่มีความเกี่ยวข้อง เช่น สินค้าที่เกี่ยวเนื่องกับโรงแรมของประดับตกแต่ง เฟอร์นิเจอร์ เครื่องใช้สิ่งอํานวยความสะดวกต่างๆ รวมถึงบริการ ที่มีในโรงแรม เช่น สปา และ บริการเสริมความงาม เป็นต้น
ข้อมูลจาก สำนักงานส่งเสริมการค้าในต่างประเทศ ณ เมืองเจนไน