Virtual Bank

ถ้า Virtual Bank เกิดขึ้นจริง คุณจะยังไปธนาคารที่เป็นสาขาอยู่หรือไม่

ทุกวันนี้โลกเดินหน้าเข้าสู่ความเป็นดิจิทัลมากขึ้น ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเริ่มเปลี่ยนแปลงไป ยกตัวอย่างการทำธุรกรรมทางการเงิน จากแต่ก่อนการจะทำอะไรก็ตามต้องไปที่สาขาธนาคารที่ตั้งอยู่ตามสถานที่ต่าง ๆ ได้ถูกพัฒนามาสู่ตู้ ATM ตลอดจนแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนที่ทำให้ทุกอย่างดูสะดวกสบายมากขึ้น โดยไม่ต้องเดินทางไปที่สาขาธนาคารให้เสียเวลา

 

ต่อไปอีกหนึ่งเทรนด์เกี่ยวกับธนาคารนั่นคือ Virtual bank ที่กำลังมา และทำให้การธุรกรรมต่าง ๆ ด้านการเงินของผู้คนง่ายขึ้นเข้ามาไป ผ่านระบบดิจิทัลแบบเต็มตัว เป็นอีกหนึ่งบริการนอกเหนือจากธนาคารดั้งเดิมที่เคยมีมา

 

 

ทำความเข้าใจธนาคารไร้สาขาคืออะไร?

อธิบายง่าย ๆ คือธนาคารพาณิชย์ไร้สาขารูปแบบใหม่ที่จะให้บริการผ่านช่องทางดิจิทัลเป็นหลัก แต่ลูกค้าสามารถใช้บริการทางการเงินได้ครบวงจรเหมือนสาขาธนาคารทั่วไป โดยลูกค้าสามารถที่จะเปิดบัญชีเงินฝาก, วางแผนการออม/การลงทุน, ยื่นเรื่องกู้, โอนเงิน, ชำระเงิน เหล่านี้ลูกค้าทำได้ด้วยตัวเอง นำมาสู่การสร้างประสบการณ์ทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ

 

ข้อดีหากธนาคารไร้สาขาเกิดขึ้นจริง

ในส่วนของผู้ให้บริการ การเกิดขึ้นของธนาคารไร้สาขา ถือว่าเป็นตัวกระตุ้นเพื่อให้เกิดการแข่งขันของธนาคารพาณิชย์ทั่วไปในการเสนอผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่ตอบโจทย์ลูกค้ามากที่สุด เช่นเดียวกับต้นทุนการจัดการที่ธนาคารไร้สาขานี้สามารถช่วยลดค่าใช้จ่ายเรื่องสถานที่ และค่าใช้จ่ายเรื่องพนักงานได้ หลุดกรอบความคิดเดิม ๆ ที่ยังพึ่งพาคนในหลายกระบวนการ แน่นอนว่าเทคโนโลยีจะทำให้มีความยืดหยุ่น คล่องตัวมากขึ้น

 

ด้านลูกค้าที่ใช้บริการจะพบว่าธนาคารไร้สาขานี้ จะมีผลิตภัณฑ์ทางการเงิน และบริการที่ตรงความต้องการมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้ารายย่อย และธุรกิจ SME ที่ยังไม่เข้าถึงบริการของธนาคารพาณิชย์ในปัจจุบัน หรือกลุ่มที่เข้าถึงแล้ว แต่ยังได้รับบริการไม่เพียงพอ

 

สถานการณ์ในประเทศไทย

 

การขอให้บริการ Virtual Bank จะต้องได้รับใบอนุญาตจากธนาคารแห่งประเทศไทย โดยผู้ที่จะขอจัดตั้งจะต้องมีความเชี่ยวชาญในเรื่องเทคโนโลยี รู้ช่องทางการให้บริการผ่านในระบบดิจิทัล รวมถึงการรู้พฤติกรรมของผู้บริโภค การใช้จ่ายต่าง ๆ มาประเมินความเสี่ยง เพื่อเสนอบริการทางการเงินอย่างครอบคลุมแบบครบวงจร

 

 

อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทยได้เปิดกว้างให้กับธุรกิจที่มีความตั้งใจอยากจัดตั้งยื่นเรื่องเข้ามาขอใบอนุญาต ทั้งผู้ประกอบการในธุรกิจการเงิน เช่น ธนาคาร หรือ non-bank และบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลยีอย่าง FinTech

 

สำหรับกลุ่มที่ยื่นขอใบอนุญาต ได้แก่

1.กลุ่ม SCBX ร่วมกับ KakaoBank และ Webank

2.กลุ่ม Sea Group ร่วมกับ BTS, BBL, สหพัฒน์, ไปรษณีย์ไทย

3.กลุ่ม ซีพี: ascenomoney, ANTGROUP

4.กลุ่มชัชวาลย์ เจียรวนนท์: LIGHTNET, WeLab

5.ธนาคารกรุงไทย: GULF, AIS, OR

 

ทั้งนี้ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะประกาศผลได้รับใบอนุญาตช่วงกลางปี 2568 และคาดว่าจะเริ่มดำเนินการอย่างเป็นทางการในช่วงปี 2569

 

ที่มา: ธนาคารแห่งประเทศไทย 1, ธนาคารแห่งประเทศไทย 2