“ธุรกิจสมุนไพร” กำลังเนื้อหอมในกลุ่ม SME ปี 2566 สร้างรายได้กว่า 8 แสนล้าน

“ธุรกิจสมุนไพรไทย” อีกหนึ่งที่เป็นโอกาสของผู้ประกอบการ SME ที่จะเข้ามาเจาะตลาดที่กำลังเป็นเทรนด์ฮิต ณ ขณะนี้

การวิเคราะห์ของกรมพัฒนาธุรกิจการค้ารายธุรกิจเชิงลึก พบว่า ‘ธุรกิจสมุนไพรไทย’ มีโอกาสที่น่าสนใจทั้งตลาดในประเทศและต่างประเทศ สืบเนื่องจากวิกฤตการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาส่งผลให้ผู้บริโภคเกิดความตื่นตัวในการดูแลสุขภาพตัวเอง ประกอบกับมีทางเลือกในการป้องกันโรค การรักษาด้วยการใช้สมุนไพรที่เป็นเอกลักษณ์และภูมิปัญญาของไทย ทำให้ธุรกิจในกลุ่มนี้มีการพัฒนาผลิตภัณฑ์และได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ มาอย่างต่อเนื่อง

ปัจจุบันประเทศไทยมีนิติบุคคลที่ประกอบธุรกิจสมุนไพรจำนวน 18,342 ราย ทุนจดทะเบียน 147,580.84 ล้านบาท แบ่งเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มขายปลีก/ขายส่ง 15,060 ราย ทุนจดทะเบียน 124,792.36 ล้านบาท, กลุ่มผลิต/แปรรูป 1,778 ราย ทุนจดทะเบียน 16,523.04 ล้านบาท และกลุ่มเพาะปลูก 1,504 ราย ทุนจดทะเบียน 6,265.44 ล้านบาท ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดเล็ก S 17,224 ราย ขนาดกลาง M 806 ราย และขนาดใหญ่ L 312 ราย

จะเห็นได้ว่าธุรกิจขนาดเล็กเป็นผู้เล่นที่มีโอกาสในตลาดสมุนไพรมากที่สุด สามารถนำภูมิปัญญาท้องถิ่นที่สืบทอดในครอบครัวมาแปรเปลี่ยนเป็นอุตสาหกรรมสร้างอาชีพได้ ซึ่งประเทศไทยมีสมุนไพรหลากหลายชนิดที่สามารถเพาะปลูกได้ในประเทศ ทำให้ผู้ผลิตควบคุมและลดต้นทุนการผลิตได้ รวมถึงแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ได้หลายชนิดซึ่งถือเป็นข้อได้เปรียบทางการตลาด สำหรับภาพรวมผลประกอบการของธุรกิจสมุนไพรในปี 2566 สร้างรายได้ 872,466.83 ล้านบาท เป็นกำไร 27,497.70 ล้านบาท โดยกลุ่มขายปลีก/ขายส่ง เป็นกลุ่มที่ทำรายได้และกำไรสูงที่สุด

 

 

ด้านนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนธุรกิจสมุนไพรในประเทศไทยมีมูลค่าการลงทุน 38,707.25 ล้านบาท โดยเป็นการลงทุนในกลุ่มขายปลีก/ขายส่งมากที่สุด มูลค่าการลงทุน 34,042.05 ล้านบาท ทั้งนี้ ประเทศที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจสมุนไพรสูงสุด 3 อันดับคือ สหรัฐอเมริกา เงินลงทุน 11,809.12 ล้านบาท, ญี่ปุ่น 5,082.04 ล้านบาท และสิงคโปร์ 3,274.73 ล้านบาท ธุรกิจสมุนไพรมีแนวโน้มเติบโตได้ดีโดยเฉพาะในตลาดต่างประเทศ เนื่องจากสินค้าของไทยได้รับความนิยมจากชาวต่างชาติที่มักจะซื้อใช้งานเองหรือนำกลับไปเป็นของฝาก อาทิ ยาดม ยาหม่อง เครื่องสำอาง ยา และอาหาร ประกอบกับเกิดปรากฎการณ์บนโลกออนไลน์ที่ผู้มีชื่อเสียงทั้งชาวไทยและต่างชาติหยิบสินค้าไทย (ยาดม) ขึ้นมาใช้งานและมีภาพเผยแพร่บนโซเชียลมีเดียไปทั่วโลก อาทิ นักร้องไทยที่มีชื่อเสียงระดับโลก

 

 

เราจะเห็นกรณีคนมีชื่อเสียง ไม่ว่าจะเป็น ลิซ่า ลลิษา มโนบาล และล่าสุดนักกีฬายกน้ำหนักไทยที่สูดยาดมก่อนขึ้นไปแข่งขันในกีฬาระดับโอลิมปิกก่อนคว้าเหรียญเงินมาได้จนภาพกลายเป็นไวรัลบนโลกออนไลน์และเป็นที่สนใจของชาวต่างชาติ ดังนั้น ปัจจัยต่างๆ ที่กล่าวมาจึงเป็นโอกาสสำคัญที่สมุนไพรไทยจะกลายเป็น Soft Power สร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศไทยได้ไม่ยาก