เปิด 6 ธุรกิจนวัตกรรมดาวเด่นไทย มีโอกาสเติบโตไกลในตลาดโลก
ด้วยการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีคือกุญแจสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศชั้นนำทั่วโลก ในขณะที่ไทยเอง ก็ได้มุ่งสนับสนุนการใช้นวัตกรรมเข้ามายกระดับธุรกิจที่มีศักยภาพในการรับมือกับความท้าทาย ในระดับโลก ครั้งนี้เราขอพาไปพบกับ เปิด 6 สาขาธุรกิจนวัตกรรมที่จะเข้ามาพลิกโฉมเศรษฐกิจ พร้อมยกระดับอุตสาหกรรมไทยในตลาดสากล
- นวัตกรรมด้านอาหารและผลไม้ไทยมูลค่าสูงเพื่อการส่งออก
จากสถานการณ์ที่หลายประเทศเริ่มมีนโยบายลดการส่งออกอาหารเนื่องจากความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ จึงเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะเข้ามาอุดช่องว่างด้วยจุดแข็งที่เราเป็นหนึ่งในครัวของโลก ซึ่งในสาขานี้จะมีการสนับสนุนธุรกิจอาหารสำหรับตลาดจำเพาะเพื่อตอบสนองต่อไลฟ์สไตล์การบริโภคที่หลากหลาย เช่น อาหารปราศจากสารก่อภูมิแพ้ อาหารออร์แกนิก อาหารฮาลาล อาหารวีแกน อาหารพรีเมียมซึ่งจะมีการใช้วัตถุดิบคุณภาพสูงแล้วนำมาเพิ่มจุดขายด้วยเรื่องราวหรือประสบการณ์แปลกใหม่ อาหารพื้นถิ่นมูลค่าใหม่ที่จะใช้นวัตกรรมในการเพิ่มมูลค่าแต่ยังคงเอกลักษณ์เดิมไว้ และผลไม้ไทยมูลค่าสูงที่เน้นเกี่ยวกับนวัตกรรมด้านการจัดเก็บ จัดการ และขนส่งเพื่อส่งออกได้อย่างมีคุณภาพ ซึ่งผลไม้ไทยมูลค่าสูง ได้แก่ ทุเรียน มะพร้าว มะม่วง มังคุด ลำไย ส้มโอ เป็นต้น
- ธุรกิจนวัตกรรมด้านผลิตภัณฑ์ กระบวนการผลิต และการบริหารจัดการพืชและสัตว์เศรษฐกิจหลักของประเทศตลอดห่วงโซ่คุณค่า
ด้วยต้นทุนทางธรรมชาติที่ทำให้ประเทศไทยได้เปรียบด้านความหลากหลาย จึงควรเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมเกษตรและปศุสัตว์ไทยไปอีกขั้น ในสาขานี้จึงมีการสนับสนุนการพัฒนาปรับปรุงสายพันธุ์ และพัฒนาส่วนที่เกี่ยวข้องกับปัจจัยการผลิต ไม่ว่าจะเป็น การพัฒนาวัคซีน สูตรอาหาร กระบวนการเพาะปลูกเพาะเลี้ยง ซึ่งจะครอบคลุมทั้งระบบโรงเรือนอัจฉริยะ เครื่องจักรกลต่างๆ และการจัดการหลังการเก็บเกี่ยวที่จะช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ให้ยังคงความสดใหม่สำหรับส่งออก
- ธุรกิจนวัตกรรมด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนตํ่า
เพื่อเป็นการสอดรับกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ในสาขานี้จึงเน้นไปที่โมเดลอุตสาหกรรมและธุรกิจที่มุ่งไปสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน มีทั้งรูปแบบธุรกิจแบ่งปันเพื่อลดหรือเพิ่มมูลค่าขยะ ธุรกิจการจัดการขยะหรือของเสีย และโมเดลการจัดการขยะเพื่อนำของเสียจากภาคอุตสาหกรรมหรือวัตถุดิบเหลือทิ้งทางการเกษตรมาใช้เป็นวัตถุดิบทดแทน เพิ่มมูลค่า หรือนำมาสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่
- ธุรกิจนวัตกรรมด้านพลังงานสะอาด
จากเป้าหมายที่ภาครัฐต้องการผลักดันไทยให้เป็นศูนย์กลางอุตสาหกรรมชีวภาพในภูมิภาค (Bio Hub of ASEAN) ภายในปี 2570 เพื่อสร้างเม็ดเงินลงทุน 1.9 แสนล้านบาท จึงต้องมีการส่งเสริมการปรับปรุงคุณภาพเชื้อเพลิงชีวภาพ โดยจะเน้นที่การพัฒนาเชื้อเพลิงชีวมวล เชื้อเพลิงจากของเสีย และระบบบริหารจัดการการผลิตพลังงานสะอาด ตั้งแต่การผลิต การบริการจัดเก็บ และการจ่ายไฟฟ้า ตามเป้าหมายในการสร้างมูลค่าการผลิตพลังงานสะอาด พลังงานหมุนเวียน และพลังงานชีวภาพ
- ธุรกิจนวัตกรรมดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีด้าน AI, Robotic, Immersive & IoT (ARI Tech)
ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมได้หลายด้าน โดยจะเน้นไปที่ธุรกิจดิจิทัลด้านการแพทย์และสุขภาพ ธุรกิจดิจิทัลด้านอีคอมเมิร์ซและค้าปลีก ธุรกิจดิจิทัลด้านการศึกษา และธุรกิจดิจิทัลด้านเกษตรและอาหาร โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มมูลค่าและสัดส่วนการใช้ผลิตภัณฑ์หรือบริการจากเทคโนโลยีดิจิทัลปัญญาประดิษฐ์ อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ รวมทั้งหุ่นยนต์ และระบบอัตโนมัติที่พัฒนาหรือมีการต่อยอดในประเทศให้เพิ่มขึ้นในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
- ธุรกิจนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีเกี่ยวเนื่อง
จากแนวโน้มที่มีการเติบโตขึ้นทั่วโลกและประเทศไทยเองก็วางเป้าหมายในการเป็น HUB ยานยนต์ไฟฟ้าแห่งภูมิภาคเอเชีย จึงต้องต่อยอดการพัฒนาอุตสาหกรรมนี้ด้วยการสนับสนุนที่ครอบคลุมตั้งแต่ระบบโครงสร้างพื้นฐานและส่วนประกอบสำคัญ ด้านกระบวนการผลิตยานยนต์ไฟฟ้า การพัฒนาระบบและซอฟต์แวร์ต่างๆ เพื่อใช้กับยานยนต์ไฟฟ้า แพลตฟอร์มและบริการสนับสนุน อย่างเช่น สถานีชาร์จ การจ่ายไฟฟ้าของแบตเตอรี่ และการพัฒนายานยนต์ไฟฟ้าที่มีลักษณะเฉพาะในโมเดลอื่นๆ อย่างรถกระบะ รถจักรยานยนต์ รถบัส รถบรรทุก เป็นต้น
ข้อมูลจาก สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA