กรณีศึกษา ไต้หวันเตรียมเก็บภาษีคาร์บอนในปีหน้า

กระทรวงสิ่งแวดล้อมของไต้หวันได้ประกาศ “กฎหมายว่าด้วยความเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” (Climate Change Response Act) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 และมีการกำหนดเรื่องมาตรการซื้อขายคาร์บอนเครดิต พร้อมทั้งจะนำระบบ “การจัดเก็บค่าธรรมเนียมการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Carbon Fee)” มาใช้

 

เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2567 ได้มีการประกาศกฎหมายการจัดเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอน เบื้องต้นจะจัดเก็บจากกลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้า อุตสาหกรรมจำหน่ายก๊าซ และภาคการผลิตที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 25,000 ตันต่อปี คาดว่ามีประมาณ 281 บริษัท (จำนวนโรงงานรวมประมาณ 500 แห่ง) ซึ่งมีปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกรวมทั้งหมดประมาณ 1.55 ล้านตันคาร์บอนไดออกไซด์ คิดเป็นประมาณ 54% ของการปล่อยก๊าซทั้งหมดของไต้หวัน ที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมคาร์บอน อัตราค่าธรรมเนียมคาร์บอนที่มีกำหนดจะประกาศในเดือนตุลาคมปีนี้และเริ่มทดสอบการยื่นรายงานในเดือนพฤษภาคมปีหน้า โดยไต้หวันวางแผนเริ่มจัดเก็บค่าธรรมเนียมจริงในปี 2569

 

กระทรวงสิ่งแวดล้อมไต้หวันย้ำว่า ผลกระทบต่อภาคธุรกิจจะมีอย่างจำกัด และค่าธรรมเนียมนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อดัชนีราคาผู้บริโภค (CPI) อย่างชัดเจน พร้อมทั้งจะพยายามหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดภาวะเงินเฟ้อสีเขียว (Green Inflation: ภาวะเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นเนื่องจากการที่รัฐบาลดำเนินนโยบายสีเขียว) สำหรับกฎหมายลูกสามฉบับที่ประกาศโดยกระทรวงสิ่งแวดล้อมไต้หวันเกี่ยวกับ “วิธีการจัดเก็บค่าธรรมเนียมคาร์บอน” “วิธีการจัดการแผนการลดปริมาณการปล่อย” และ “เป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกของบริษัทที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมคาร์บอน” โดยกำหนดให้บริษัทที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากกว่า 25,000 ตันต่อปีต้องยื่นรายงานการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของปีที่ผ่านมาก่อนสิ้นเดือนพฤษภาคมของทุกปี

 

ซึ่งโดยหลักการแล้ว ธุรกิจสามารถหักลบปริมาณการปล่อยที่น้อยกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ 25,000 ตันคาร์บอนไดออกไซด์จากการคำนวณค่าธรรมเนียมได้ และคาดว่าในปี 2573 เกณฑ์ขั้นต่ำจะถูกปรับให้ครอบคลุมบริษัทที่ปล่อยก๊าซมากกว่า 10,000 ตันต่อปี สำหรับค่าธรรมเนียมคาร์บอนที่จะจัดเก็บ คณะกรรมการของกระทรวงสิ่งแวดล้อมไต้หวันเสนอให้จัดเก็บที่ราคา 330550 บาทต่อตัน ซึ่งเป็นอัตราที่ต่ำกว่าสิงคโปร์และอียู โดยจะค่อยๆ เพิ่มขึ้นจนมาอยู่ที่ระดับ 1,320 – 1,980 บาทต่อตัน ในปี 2573

 

สำหรับบริษัทที่ต้องชำระค่าธรรมเนียมคาร์บอน สามารถยื่นขอรับอัตราส่วนลดพิเศษได้หากดำเนินการเปลี่ยนไปใช้เชื้อเพลิงที่มีคาร์บอนต่ำ ใช้เทคโนโลยีการดูดซับคาร์บอน ปรับปรุงประสิทธิภาพพลังงาน ใช้พลังงานหมุนเวียน หรือปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อให้บรรลุเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจกที่กำหนด ซึ่งในชั้นนี้ รัฐบาลไต้หวันได้ตั้งเป้าหมายขั้นต้นไว้ที่ลดลงร้อยละ 25 ในช่วงระหว่างปี 2569 – 2573 แต่กระทรวงสิ่งแวดล้อมไต้หวันจะทำการประกาศตัวเลขเป้าหมายอย่างเป็นทางการในช่วงปลายปีนี้ต่อไป อย่างไรก็ตาม การรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศถือเป็นประเด็นที่ทั่วโลกให้ความสำคัญมาก โดยเฉพาะการค้ากับกลุ่มประเทศพัฒนาแล้ว ที่ผู้บริโภคจะมีความตื่นตัวและตระหนักรู้ในด้านการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมสูง ซึ่งผู้ประกอบการไทยควรปรับตัวรับกับเทรนด์นี้เพื่อโอกาสธุรกิจนำเข้า-ส่งออกในอนาคต

 

ข้อมูลจาก: กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ DITP / Taipei Times / Economic Daily News / Commercial Times (Sep 1-15, 2024)