ธุรกิจร้านสะดวกซื้อยังโตแรง ปี 67 มูลค่า 6.05 แสนล้านบาท 7-Eleven ยังเป็นนัมเบอร์วัน

อีกหนึ่งธุรกิจที่เรียกว่ามาแรงแห่งยุค และถูกพูดถึงตลอดมาสำหรับคนที่อยากลงทุน เพราะอย่างไรก็ขายได้ คนไทยมีความต้องการซื้ออยู่แล้ว แน่นอนเรากำลังถึง “ร้านสะดวกซื้อ” ที่ทุกวันนี้เดินทางไปไหนมาไหนก็ต้องเจอไม่ว่าจะอยู่ในกรุงเทพฯ ต่างจังหวัด สถานที่ต่าง ๆ เป็นอันต้องเจอ

ปัจจัยที่ทำให้ “ร้านสะดวกซื้อ” เป็นที่นิยมของผู้บริโภคชาวไทย คงหนีไม่พ้นความสะดวกสบายที่เข้าไปสามารถซื้อสินค้าอุปโภค-บริโภค ได้อย่างหลากหลาย และหาได้ง่าย ไม่ต้องไปไกล รวมถึงการเสนอโปรโมชันดึงดูดจากเหล่าแบรนด์ผู้ให้บริการที่ต้องการสร้างฐานลูกค้าให้กับตัวเอง

ข้อมูลวิเคราะห์ จากวิจัยธนาคารแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ เกี่ยวกับสถานการณ์ธุรกิจร้านสะดวกซื้อ พบว่าในปี 2566 มูลค่าตลาดร้านสะดวกซื้อคิดเป็น 5.73 แสนล้านบาท เติบโต 8.1% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา โดยสาเหตุที่ทำให้ธุรกิจเติบโตอย่างต่อเนื่องมาจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ มาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายของภาครัฐ รวมถึงผู้บริโภคที่หันมาซื้อสินค้าผ่านหน้าร้านมากขึ้น ทั้งกลุ่มพนักงานออฟฟิศ นักท่องเที่ยวต่างชาติ หลังเปิดประเทศเต็มรูปแบบ

 

ร้านสะดวกซื้อเติบโตอย่างต่อเนื่อง

 

สำหรับในปี 2567 คาดการณ์ว่ามูลค่าตลาดธุรกิจร้านสะดวกซื้อจะคิดเป็น 6.05 แสนล้านบาท เติบโต 5.7% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ส่วนในปี 2568 คาดว่ามูลค่าจะขยายตัวเพิ่มขึ้นไปอีก คิดเป็น 6.38 แสนล้านบาท เติบโต 5.3% อย่างไรก็ตาม เรื่องที่ควรระวังกับความท้าทาย ไม่ว่าจะเป็น ราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงขึ้นตามต้นทุน, ค่าครองชีพที่สูงขึ้นและกำลังซื้อของผู้บริโภคที่ยังไม่ฟื้นตัวแบบไม่ทั่วถึง เหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อการซื้อสินค้า/บิล

ด้านธุรกิจร้านสะดวกซื้อในประเทศไทยแบ่งช่องทางการจำหน่ายออกเป็น 2 ช่องทาง ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อในสถานีบริการน้ำมัน มีส่วนแบ่งการตลาดคิดเป็น 16% และร้านสะดวกซื้อนอกสถานีบริการน้ำมัน คิดเป็น 84% โดยร้าน 7-Eleven มีสัดส่วนมากที่สุด คิดเป็น 70.8% ตามมาด้วย Lotus’s คิดเป็น 10.6%, BigC mini คิดเป็น 4.5%, CJ Express คิดเป็น 4.2% และอื่น ๆ คิดเป็น 9.9%

บทวิเคราะห์มองว่านับตั้งแต่การแพร่ระบาดโควิด-19 ร้านสะดวกซื้อได้ขยายช่องทางจำหน่ายไปยังออนไลน์ และพัฒนาแอปพลิเคชันบนมือถือ เพื่อให้ลูกค้าสามารถซื้อ และจัดส่งสินค้าได้อย่างสะดวก โดยแอปพลิเคชันกลายเป็นเครื่องมือที่ตอบสนองความต้องการใช้ชีวิตในยุคดิจิทัล เช่นเดียวกับการชำระเงินแบบดิจิทัลก็ได้รับความนิยมเหมือนกัน

เมื่อมองดูสถานการณ์การแข่งขัน พบว่าในปี 2566 ตลาดร้านสะดวกซื้อยังมีการแข่งขันที่ค่อนข้างรุนแรง โดยเฉพาะกลุ่มร้านสะดวกซื้อขนาดเล็ก (พื้นที่ไม่เกิน 150 ตารางเมตร) ซึ่ง 7-Eleven ยังครองตลาด ด้วยกลยุทธ์การขยายสาขา และการพัฒนาสินค้า ทั้งอาหารพร้อมทาน และเครื่องดื่มอย่างต่อเนื่อง

หากพิจารณาคู่แข่งรายอื่น พบว่าเริ่มมองหาโอกาสเติบโตในตลาดร้านสะดวกซื้อ โดยผู้ประกอบการบางรายเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับร้านสะดวกซื้อที่มีขนาดพื้นที่ใหญ่อยู่ที่ 250-300 ตารางเมตร ซึ่งสามารถจัดวางสินค้าได้หลากหลายกว่า มีที่จอดรถ และขยายสาขาเข้าใกล้ชุมชน และหมู่บ้านได้เหมือนกับร้านขนาดเล็ก

 

ทำเลที่ตั้งร้านสะดวกซื้อมีผลต่อรายได้

 

อีกทั้ง การเลือกทำเลก็มีส่วนสำคัญไม่แพ้กัน โดยร้านสะดวกซื้อในจังหวัดท่องเที่ยวสำคัญมีการเติบโตที่โดดเด่น ในขณะที่ร้านสะดวกซื้อที่อยู่ในจังหวัดที่ไม่ใช่แหล่งท่องเที่ยวมีการเติบโตที่ทรงตัว ซึ่งมีสาเหตุหลักมาจากผู้บริโภคในพื้นที่นั้นมีฐานะปานกลางถึงระดับล่าง มีกำลังซื้อที่อ่อนแอ มีหนี้ครัวเรือนอยู่ในระดับสูง และต้องการพึ่งพามาตรการกระตุ้นของภาครัฐฯ

ที่มา: LHbank