CBAM

รู้จัก “CBAM” กุญแจ Net Zero ทั้ง 5 ข้อ สู่ประตูยุโรป

CBAM ย่อมาจาก Carbon Border Adjustment Mechanism หรือ มาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดน เป็นมาตรการที่สหภาพยุโรป (EU) กำหนดขึ้นเพื่อมุ่งสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมแก่ประเทศคู่ค้านอกสหภาพยุโรป ‘ผ่านการใช้มาตรการด้านคาร์บอน‘ โดยจะเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากผู้นำเข้าสินค้าประเภทที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูง (carbon intensive products) ดังนั้นผู้ผลิตจึงต้องเร่งดำเนินการปรับปรุงกระบวนการผลิตให้ปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดลงและเพิ่มความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อให้สินค้ามีราคาที่แข่งขันในตลาด EU ได้

 

 

ซึ่งก่อนที่สหภาพยุโรปบังคับใช้เต็มรูปแบบในวันที่ 1 มกราคม 2569 CBAM เริ่มนำร่องมาตรการปรับคาร์บอนก่อนข้ามพรมแดนในระยะเปลี่ยนผ่าน (transitional period) จากสินค้าประเภทที่มีการปล่อยคาร์บอนในกระบวนการผลิตสูงกับผู้นำเข้าสินค้าเป้าหมาย 6 กลุ่ม ได้แก่ 1. ซีเมนต์ 2. ไฟฟ้า 3. ปุ๋ย 4. เหล็กและเหล็กกล้า 5. ไฮโดรเจน และ 6. อะลูมิเนียม ไปยังสหภาพยุโรปจะต้องรายงานปริมาณการนำเข้ารวมถึงปริมาณการปล่อยคาร์บอนทั้งทางตรงและทางอ้อม (Embedded Emission) ของสินค้า รวมถึงอาจจะต้องซื้อ CBAMCertificate ตามปริมาณการนำเข้าและปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้านั้น โดย EU ได้กำหนดระยะเวลาบังคับใช้เป็น 3 ช่วงหลัก ดังนี้

ช่วงที่ 1: ปี พ.ศ. 2566-2568 (ค.ศ. 2023-2035) เป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน หรือ transitional period ผู้นำเข้าต้องรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมที่กำหนด โดยยังไม่ต้องจ่ายค่าธรรมเนียมคาร์บอน

ช่วงที่ 2: ปี พ.ศ. 2569-2577 (ค.ศ. 2026-2034) เป็นช่วงบังคับใช้ หรือ definitive period ผู้นำเข้าต้องรายงานปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้านำเข้า และต้องซื้อ CBAMcertificates ตามปริมาณการปล่อยคาร์บอนของกลุ่มประเภทสินค้านั้น ๆ ซึ่งในระยะนี้ EU จะทยอยลดสิทธิ์การปล่อยคาร์บอนแบบให้เปล่า (free allowances)

ช่วงที่ 3: ปี พ.ศ. 2578 (ค.ศ. 2035) เป็นต้นไป เป็นช่วงที่ EU บังคับใช้มาตรการอย่างเต็มรูปแบบ หรือ full implementation โดย EU จะยกเลิกสิทธิ์การปล่อยคาร์บอนแบบให้เปล่า (free allowances) ของทุกภาคอุตสาหกรรม

 

ดังนั้นแล้วเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ระยะเปลี่ยนผ่าน (พ.ศ. 2566-2568) แต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมหลักของประเทศจึงควรเร่งจัดทำฐานข้อมูลด้านการปล่อยคาร์บอนตลอดกระบวนการผลิต เพื่อให้เมื่อถึงปี พ.ศ. 2569 ผู้ประกอบการไทยจะมีข้อมูลพร้อมแสดงต่อ EU ทำให้ส่งออกสินค้าไปจำหน่ายได้อย่างต่อเนื่อง ไม่มีอุปสรรคมาทำให้การดำเนินธุรกิจต้องหยุดชะงัก โดยข้อมูลที่ละเอียดและชัดเจนจะเป็นประโยชน์ต่อการวางแผนลดการปล่อยคาร์บอนอย่างมีประสิทธิภาพ และการเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันอีกด้วย

 

ตัวอย่างการนำฐานข้อมูลด้านการปล่อยคาร์บอนของแต่ละอุตสาหกรรมไปใช้ประโยชน์ เช่น ‘ภาครัฐ’ ใช้วางนโยบายและกฎเกณฑ์สีเขียวสำหรับสินค้าส่งออกและนำเข้า ‘ภาคเอกชน’ ใช้วางแนวทางการเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขัน ‘ภาคการวิจัยและภาคการศึกษา’ ใช้พัฒนาเทคโนโลยีให้สอดรับกับความต้องการของประเทศ

 

หนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการก้าวผ่านมาตรการ CBAM ได้อย่างยั่งยืน คือ การนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม เข้าช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประเทศไทยเองก็มีการตั้งเป้าหมายไว้เช่นกันว่า ‘ประเทศไทยจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608 (ค.ศ. 2065) หรือก่อนหน้า‘

 

แนวทางสู่ Net Zero ประกอบไปด้วย

  • จัดทำข้อมูลการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของธุรกิจ
  • พัฒนา ปรับปรุง และเพิ่มประสิทธิภาพโรงงานหรือบริษัท
  • ปรับโครงสร้างพลังงาน เพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทน
  • บริหารกระบวนการผลิตให้ลดการปล่อยคาร์บอน และออกแบบผลิตภัณฑ์ให้นำกลับมาใช้ใหม่ได้ (circular design)
  • เพิ่มสัดส่วนการหมุนเวียนวัสดุ
  • ใช้เทคโนโลยีกักเก็บและใช้ประโยชน์คาร์บอน (CCUS) และใช้การกักเก็บคาร์บอนด้วยวิถีธรรมชาติ (nature based solution)

 

การนำแนวทางเหล่านี้ไปใช้จะเป็นประโยชน์ทั้งในด้านการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมถึงเป็นการสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจในระยะยาวด้วย ทั้งนี้แต่ละภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน ต่างมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องร่วมมือกันพัฒนากลไกสนับสนุนและให้ความร่วมมือในการปรับเปลี่ยน เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมาย Net Zero ได้

 

สำหรับมาตรการ 1 ใน 6 ที่สหภาพยุโรปได้ออกแนวทางการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์  โดยกฎหมายและกฎระเบียบอีก 5 ข้อ ประกอบด้วย

  1. Renewable Energy หรือกฎหมายเกี่ยวกับพลังงานหมุนเวียน เพื่อปรับปรุงกฎหมายเพิ่มอัตราการใช้พลังงานทดแทนให้เป็น 40 % ของพลังงานทั้งหมดในปี 2030 (ปัจจุบัน 20%) และมาตรการปรับลดอัตราภาษีในกลุ่มพลังงานทดแทน โดยปรับเพิ่มอัตราภาษีในกลุ่มพลังงานประเภทอื่นที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูง
  2. Sustainable / Smart Mobility หรือกฎหมายเกี่ยวกับการขนส่งอัจฉริยะและยั่งยืน เพื่อยกระดับมาตรฐานยานพาหนะที่ใช้ในกลุ่มประเทศสมาชิก EU โดยอนุญาตให้ใช้ยานพาหนะที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์เท่านั้น ภายในปี 2035 ซึ่งจะส่งผลกระทบกับการส่งออกอุตสาหกรรมชิ้นส่วนรถยนต์ และอุปกรณ์การชาร์จพลังงานสำหรับรถไฟฟ้า และรถไฮโดรเจน จากประเทศไทย รวมถึงธุรกิจระบบเครื่องยนต์ดีเซล-เบนซิน และ ปรับปรุงกฎหมายควบคุมการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอุตสาหกรรมการบิน และการเดินเรือ โดยจะเริ่มในปี 2026
  3. Forestry / Biodiversity หรือกฎหมายเกี่ยวกับป่าไม้และความหลากหลายทางชีวภาพ มีสาระสำคัญ คือ มาตรการการปกป้องป่าที่เป็นแหล่งดูดซับก๊าซเรือนกระจก อาทิ การไม่ใช้พลังงาน Biofuel เช่น ปาล์มน้ำมัน อ้อย และข้าวโพด ที่มาจากการรุกพื้นที่ป่า หรือสร้างผลลัพธ์ทำให้ขาดแคลนอาหาร และทำให้ราคาอาหารแพงขึ้น รวมถึงการไม่ซื้อสินค้าทุกประเภทที่มาจากการรุกพื้นที่ป่า เช่น กาแฟ
  4. Taxonomy หรือกฎหมายเกี่ยวกับการจัดหมวดหมู่ธุรกิจสีเขียว คือการกำหนดนิยามกิจกรรมของธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ก็จะได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มประเทศสมาชิก EU มากขึ้น เช่น การระดมทุนใน Green Bond หรือได้สิทธิพิเศษทางสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ Soft Loan
  5. Due Diligence หรือกฎระเบียบความรับผิดชอบในการประกอบธุรกิจ คือการกำหนดกรอบการทำธุรกิจตามหลักบรรษัทภิบาล Sustainable Corporate Governance ธุรกิจที่ไม่สร้างผลกระทบและดูแลสิ่งแวดล้อม และธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิมนุษยชน ซึ่งจากกฎระเบียบข้อนี้นักธุรกิจและผู้ประกอบการไทยต้องปรับตัว โดยให้ความสำคัญกับการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนตามหลัก (Environmental, Social, Governance: ESG) ที่ไม่ได้ทำธุรกิจเพียงแค่แสวงหาผลกำไรเพียงอย่างเดียวเท่านั้น

เรื่องที่เกี่ยวข้อง