ปลาทูไทย

วิกฤตปลาทูไทย บทพิสูจน์การทำธุรกิจภายใต้หลัก ESG สู่อนาคตของท้องทะเลไทย

ปลาทูไทย มีลักษณะหางเหลืองอมเทา ไม่มีเส้นเป็นแถบดำที่ด้านหลังและกลางลำตัว ขาดโตเต็มวัยไม่เกิน 22 ซม. ถือเป็นปลาที่คนไทยรู้จักและบริโภคกันมายาวนาน ด้วยปริมาณที่เคยอุดมสมบูรณ์ในท้องทะเลไทยและความง่ายต่อการบริโภค ซึ่งปลาทูไทยไม่เพียงอยู่ในเมนูอาหารสดเท่านั้น แต่ยังถูกแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เพื่อเพิ่มมูลค่าและสามารถเก็บรักษาได้นานขึ้น เช่น ปลาทูเค็ม ปลาทูต้มหวาน และน้ำพริกปลาทู อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันปลาทูกำลังเผชิญวิกฤตครั้งใหญ่ เนื่องจากปัจจัย ดังนี้

  • การจับปลาผิดวิธี – การจับปลาทูในช่วงวางไข่หรือปลาทูที่ยังไม่โตเต็มวัย รวมถึงการใช้อวนตาถี่ขนาดใหญ่ และการเปิดไฟล่อ ซึ่งมักใช้เพื่อจับปลากะตัก แต่ก็ทำให้ลูกปลาทูติดมาด้วย และนาความจริง เรือปั่นไฟเคยถูกห้ามใช้มาแล้วเมื่อปี 2526 ตามประกาศกระทรวงฯ แต่เมื่อปี 2539 กลับมีประกาศให้สามารถใช้วิธีการทำการประมงด้วยวิธีใช้แสงไฟล่อปลาได้เช่นเดิม จนส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำวัยอ่อน เหล่านี้ทำให้วงจรชีวิตของปลาถูกที่จะสามารถแพร่พันธุ์ได้ต่อไปกลับถูกขัดขวาง ส่งผลให้จำนวนปลาทูลดลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งร่างการแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดการประมง พ.ศ. 2558 ที่กำลังจะเกิดขึ้นนี้ ก็จะเป็นอีกบทพิสูจน์การขับเคลื่อนนโยบายความยั่งยืนทางทะเลของประเทศไทย
  • การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ – สภาวะโลกร้อนที่ทำให้อุณหภูมิของน้ำทะเลที่สูงขึ้นส่งผลต่อแหล่งอาหารและการวางไข่ของปลาทู
  • การทำลายแหล่งที่อยู่อาศัย – การขยายตัวของเมืองและอุตสาหกรรมทำให้พื้นที่ธรรมชาติของปลาทู เช่น ป่าชายเลนและปากแม่น้ำถูกทำลาย ซึ่งส่งผลกระทบโดยตรงต่อระบบนิเวศในทะเลไทย สัตว์น้ำที่เคยพึ่งพาปลาทูเป็นอาหารเริ่มอพยพไปยังแหล่งอื่น ระบบนิเวศที่เคยสมบูรณ์จึงเสื่อมโทรมและต้องการการฟื้นฟูอย่างเร่งด่วน
  • มลพิษทางทะเล – ขยะพลาสติกและมลพิษในทะเลส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตและจำนวนประชากรของปลาทู
  • การจับปลาทูขนาดเล็กมาทำการค้าเชิงพาณิชย์ – เช่น การขายลูกปลาทูตากแห้ง การรับซื้อปลาทูขนาดเล็กจำนวนมากของโรงงานน้ำปลาและโรงงานปลาป่น ซึ่งประเทศไทยมีโรงงานเหล่านี้นับร้อยแห่ง และแต่ละที่ยังต้องใช้ปลาทูตัวเล็กตัวน้อยกว่าล้านกิโลกรัม หรือแม้แต่การเร่งจับปลาทูไทย โดยไม่ใส่ใจด้านความยั่งยืนของโรงงานปลากระป๋อง ซึ่งไทยเป็นผู้ส่งออกทูน่ากระป๋องเป็นอันดับ 1 ของโลก
  • นโยบายการจัดการที่ไม่ยั่งยืน – เช่น เจ้าหน้าที่บางรายยังแสวงหาผลประโยชน์ ทำให้การบังคับใช้กฎหมายไม่เป็นผล ทั้งยังเกรงใจนายทุนผู้ประกอบโรงงาน รวมถึงการที่องค์กรให้ความสำคัญต่อความก้าวหน้าของเศรษฐกิจเป็นหลัก โดยไม่มองถึงความยั่งยืนด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

สำหรับปัญหาการจับสัตว์น้ำวัยอ่อน ได้มีการรณรงค์เรื่องนี้มานานหลายปี อย่างในแคมเปญในของ change.org ก็ได้รณรงค์ให้หยุดซื้อและหยุดบริโภคลูกปลาทูตากแห้ง หรือแม้แต่แคมเปญ ‘ทวงคืนน้ำพริกปลาทู’ ก็มีการร้องขอให้เร่งบังคับใช้กฎหมายเลิกจับสัตว์น้ำวัยอ่อน ซึ่งมาจากสถิติที่น่าตกใจ เพราะตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา การจับปลาทูในทะเลไทยลดลงถึง 90% โดยปลาทูขนาดเล็กเริ่มเข้ามาแทนที่ปลาทูโตเต็มวัยในตลาด ส่วนปลาทูแม่กลองที่เคยโด่งดังกลับหาได้ยาก ในขณะเดียวกัน ความต้องการปลาทูในตลาดยังคงสูง ส่งผลให้ไทยต้องนำเข้าปลาทูจากต่างประเทศมากถึง 90% เพื่อรองรับการบริโภค เช่น การนำเข้าปลาทูจากอินเดียมีลักษณะคล้ายกับปลาทูไทย แต่เนื้อแน่นกว่า และรสชาติไม่หวานเท่า และปลาทูอินโดนีเซีย ที่มีเนื้อแน่นและมีกลิ่นคาวเข้มกว่าปลาทูไทย

นอกจากด้านสิ่งแวดล้อมแล้ว สำหรับทางด้านเศรษฐกิจ การจับปลาทูที่ยังโตไม่เต็มวัยส่งผลให้ราคาต่ำลงและทำลายสมดุลของระบบนิเวศ นอกจากนี้ การนำเข้าปลาทูยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เช่น จาก 7,248 ตันในปี พ.ศ. 2559 เป็น 23,927 ตันในปี พ.ศ. 2562 ซึ่งแสดงถึงการพึ่งพาตลาดต่างประเทศที่เพิ่มขึ้น ผู้บริโภคยังขาดข้อมูลแหล่งที่มาของปลาทู นำไปสู่ความกังวลเกี่ยวกับมาตรฐานความปลอดภัย ขณะที่ชาวประมงพื้นบ้านที่พึ่งพาการจับปลาทูเพื่อเลี้ยงชีพ กำลังเผชิญวิกฤตรายได้ลดลงอย่างต่อเนื่อง ทำให้การประมงพื้นบ้านที่เคยส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่นอาจกลายเป็นอาชีพที่สูญหายไป หากไม่มีการจัดการอย่างยั่งยืน

แนวทางแก้ปัญหาปลาทูสายพันธุ์ไทยไม่ให้สูญพันธุ์ เช่น การจัดเขตพื้นที่อนุรักษ์ โดยกำหนดเขตห้ามจับปลาในช่วงวางไข่และพื้นที่สำคัญทางนิเวศ การส่งเสริมการเพาะพันธุ์ปลาทูในระบบฟาร์ม ผ่านการสนับสนุนงานวิจัยและโครงการเพาะพันธุ์ปลาทูไทยเพื่อปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ การรณรงค์การบริโภคอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะภาคประชาชนที่ต้องบริโภคปลาทูอย่างมีจิตสำนึก เพื่อช่วยลดความต้องการในตลาด การควบคุมการจับปลา รวมถึงใช้เทคโนโลยีและกฎหมายที่เข้มงวดในการควบคุมการทำประมงเกินขนาด และที่สำคัญผู้ประกอบการก็ต้องมีการดำเนินกิจการภายใต้หลัก ESG ที่คำนึงถึงความรับผิดชอบ 3 ด้านหลัก คือ สิ่งแวดล้อม สังคม และการกำกับดูแลอย่ามีธรรมาภิบาล ซึ่งการตระหนักรู้และร่วมมือกันของทุกภาคส่วนจะเป็นกุญแจสำคัญในการอนุรักษ์ปลาทูไทยให้คงอยู่ต่อไปในอนาคต เพื่อให้รุ่นลูกรุ่นหลานยังคงได้ลิ้มรสปลาทูไทยที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของประเทศไทย

หนทางสู่ความยั่งยืน การฟื้นฟูปลาทูไทยจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน โดยเฉพาะชาวประมงควรเน้นจับปลาที่มีขนาดเหมาะสม เพื่อรักษาระบบนิเวศและเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจ การจัดการทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืนไม่ใช่เพียงเรื่องของปลาทูเท่านั้น แต่ยังเกี่ยวพันถึงเศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคงทางอาหารของประเทศ หากเราเริ่มลงมือแก้ไขตั้งแต่วันนี้ ปลาทูไทยอาจกลับมาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตคนไทยอีกครั้ง พร้อมส่งต่อความมั่งคั่งทางทะเลให้กับคนรุ่นต่อไป

คลิกอ่าน: นับถอยหลัง 1 ม.ค. 68 สเปนบังคับติดสัญลักษณ์วิธีคัดแยกขยะบนบรรจุภัณฑ์