สคช. พัฒนาแรงงานภาคการเพาะเลี้ยงกุ้งด้วยมาตรฐานอาชีพ ปลุกพลังไทยสู่ Agriculture & Food Hub สร้างอนาคตที่ยั่งยืน
สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์การมหาชน) ร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ยกระดับความรู้และทักษะในการเพาะฟักกุ้งและอนุบาลลูกกุ้งที่โดดเด่นระดับโลก ก้าวไปข้างหน้าอีกขั้นด้วยการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพและสมรรถนะตามมาตรฐานอาชีพสำหรับผู้เพาะฟักกุ้งทะเลและผู้อนุบาลลูกกุ้ง โดยเฉพาะสำหรับแรงงานในอุตสาหกรรม SME ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC)
ในวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2567 ได้มีการประชุมและประเมินสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพผู้อนุบาลกุ้งทะเลระดับ 3-4 และอาชีพผู้เพาะฟักกุ้งทะเลระดับ 3-4 ณ บรรจงฟาร์ม จังหวัดฉะเชิงเทรา ให้กับกลุ่มแรงงานจากฟาร์มเพาะพันธุ์กุ้งทะเลในพื้นที่ การรับรองนี้ได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานและสมาคมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งเป็นก้าวสำคัญในการสนับสนุนนโยบาย Ignite Thailand และการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอาหารของโลก พร้อมเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน
นายบรรจง นิสภวาณิชย์ ที่ปรึกษาสมาคมกุ้งตะวันออกไทย กล่าวว่าการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพนี้ให้คุณค่าและความสำคัญกับบุคลากรในอาชีพเพาะกุ้งและอนุบาลกุ้ง แม้ไม่มีวุฒิการศึกษาสูงแต่มีฝีมือและประสบการณ์ที่ยอดเยี่ยม การรับรองนี้จะเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับบุคลากร และยกระดับอุตสาหกรรมกุ้งไทยให้ก้าวหน้าเหนือกว่าประเทศอื่น ทำให้ผลิตภัณฑ์กุ้งไทยมีคุณภาพสูงและเป็นที่ยอมรับในตลาดโลก ส่งผลให้ประเทศไทยสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างเข้มแข็ง
ดร.ณฐา จันทนู รองผู้อำนวยการสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ เปิดเผยว่าการรับรองคุณวุฒิวิชาชีพแก่กลุ่มอาชีพธุรกิจกุ้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ “Ignite Thailand จุดพลัง รวมใจ ไทยต้องเป็นหนึ่ง” ที่มุ่งเน้นการยกระดับการผลิตอุตสาหกรรมการเกษตร และทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาหาร (Agriculture & Food Hub) ดูแลความมั่นคงทางอาหารของโลก การพัฒนาแรงงานในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำให้มีคุณวุฒิวิชาชีพจะช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการผลิตและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะในพื้นที่ EEC ซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่รัฐบาลมุ่งเน้นการพัฒนา
นายพิริยพงศ์ แจ้งเจนเวทย์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมคุณวุฒิวิชาชีพ กล่าวเพิ่มเติมว่าการพัฒนาอาชีพผู้เลี้ยงกุ้งให้ได้รับคุณวุฒิวิชาชีพนับว่าเป็นการเติมเต็มศักยภาพแรงงานในกลุ่มผู้ประกอบการ SME ซึ่งตอบโจทย์พื้นที่ EEC โดยการรับรองนี้จะสร้างความเชื่อมั่นให้นายจ้างทั้งชาวไทยและต่างชาติว่าบุคลากรมีทักษะที่สามารถทำได้จริงและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในอุตสาหกรรมเกษตร การรับรองนี้จะเป็นแรงจูงใจให้แรงงานพัฒนาทักษะและความรู้ของตนเองอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีความสามารถในการทำงานที่สูงขึ้นและสามารถปรับตัวเข้ากับเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงในอุตสาหกรรมได้
การรับรองสมรรถนะแรงงานในอุตสาหกรรมเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจึงเป็นก้าวสำคัญในการสนับสนุนนโยบาย Ignite Thailand และการขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นศูนย์กลางอาหารของโลก พร้อมทั้งเสริมสร้างความมั่นคงทางอาหารและพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน