เปิด 10 อาชีพเสี่ยงตกงาน ปี 2025 ในยุค AI Disruption
ที่ผ่านมาจะเห็นว่ามีบริษัทสตาร์ทอัพด้านเทคโนโลยีจำนวนมาก ต่างพากันลดขนาดการดำเนินงาน เนื่องจากเงินทุนที่ลดลงและความไม่แน่นอนของตลาด เช่นเดียวกับ Disney ที่ประกาศแผนปลดพนักงาน 7,000 ตำแหน่งทั่วโลกในต้นปี 2024 เพื่อปรับโครงสร้างต่อการประหยัดค่าใช้จ่ายในส่วนของสตรีมมิ่งและสื่อดั้งเดิม ทำให้ในอนาคตจะมี อาชีพเสี่ยงตกงาน อีกมากมาย
ทั้งนี้ ไม่เพียงแต่เทคโนโลยีกำลังเข้ามาแทนที่งานที่เป็นกิจวัตร (Routine work) ในหลายอุตสาหกรรมเพียงเท่านั้น เรื่องการชะลอตัวของเศรษฐกิจที่นำไปสู่การลดการใช้จ่ายของผู้บริโภคและการตัดงบ การที่บางอาชีพสามารถทำงานได้ทุกที่บนโลกนี้ จึงเกิดการจ้างงานในประเทศที่มีต้นทุนแรงงานต่ำ รวมถึงกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด ทำให้เกิดการลดขนาดและการปรับโครงสร้างงานก็เป็นปัจจัยต่อการลดการจ้างงานในหลายอุตสาหกรรม และแม้ว่าอิทธิพลของความก้าวหน้าเหล่านี้จะนำมาสร้างการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและสังคม แต่ก็ทำให้บางตำแหน่งงานมีความเสี่ยงต่อการว่างงาน โดยอาชีพที่เสี่ยงต่อการว่างงานในปี 2025 มีดังนี้
- พนักงานสายการผลิต งานที่เกี่ยวข้องกับการประกอบชิ้นส่วนในโรงงานอุตสาหกรรม กำลังถูกแทนที่ด้วยหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ
- พนักงานบริการลูกค้า การพัฒนาระบบแชทบอทและ AI ที่สามารถตอบคำถามและแก้ไขปัญหาให้กับลูกค้าได้ ทำให้งานในสายนี้ลดลง
- พนักงานบัญชีและการเงินพื้นฐาน ซอฟต์แวร์อัตโนมัติที่สามารถประมวลผลข้อมูลทางการเงินได้อย่างแม่นยำ ทำให้ความต้องการตำแหน่งงานดังกล่าวลดลง
- พนักงานค้าปลีก การเปลี่ยนแปลงสู่การช็อปปิ้งออนไลน์ส่งผลกระทบต่อร้านค้าปลีกแบบดั้งเดิม
- พนักงานแคชเชียร์/เจ้าหน้าที่รับชำระเงิน เนื่องจากระบบชำระเงินอัตโนมัติ เช่น เครื่อง self-checkout และการใช้แอปพลิเคชันจ่ายเงินผ่านมือถือ กำลังเข้ามาแทนที่พนักงานรับชำระเงินในร้านค้าและซูเปอร์มาร์เก็ต
- นักแปลเอกสารพื้นฐาน เนื่องจาก Google Translate และ DeepL มีความสามารถในการแปลภาษาได้ดีขึ้นจนเพียงพอต่อการใช้งานทั่วไป
- พนักงานต้อนรับและบริการโรงแรม เนื่องจากมีการใช้เทคโนโลยีจองที่พักและเช็คอินออนไลน์แทนที่พนักงาน บวกกับระบบ AI Scheduling และ Virtual Assistant อย่าง Google Calendar และ Cortana กำลังทดแทนงานพื้นฐาน เช่น การจองเวลาและจัดการตารา
- พนักงานธนาคาร การเพิ่มขึ้นของแอปพลิเคชันธนาคาร ช่วยลดความจำเป็นในสาขาและพนักงานที่ให้บริการแบบดั้งเดิม
- ตัวแทนขายประกัน ระบบ AI และแพลตฟอร์มดิจิทัลช่วยให้ลูกค้าสามารถเลือกและซื้อประกันได้โดยตรงโดยไม่ต้องพึ่งพาตัวแทน
- พนักงานฝ่ายซ่อมบำรุงพื้นฐาน เพราะระบบ IoT และเครื่องจักรที่สามารถตรวจสอบและแจ้งเตือนการบำรุงรักษาอัตโนมัติ ลดความจำเป็นในการจ้างพนักงานแบบเดิม
สำหรับใครที่ต้องการพัฒนาตนเองเพื่อลดความเสี่ยง สามารถเริ่มได้จากการเรียนรู้ทักษะดิจิทัล เช่น ศึกษาเครื่องมือ AI เพื่อช่วยในการวิเคราะห์ข้อมูลและพัฒนาสินค้าหรือบริการ สามารถเพิ่มโอกาสการจ้างงานในหลายอุตสาหกรรม พัฒนาทักษะด้าน Soft Skills เช่น ความยืดหยุ่น ความคิดสร้างสรรค์ และการสื่อสาร ไปจนถึงการสร้างเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงกับผู้คนในอุตสาหกรรม และสร้างทัศนคติการเรียนรู้ตลอดชีวิต พร้อมหมั่นติดตามแนวโน้มและเทคโนโลยีใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสาขาของตน
ตัวอย่างองค์กรในไทยที่ปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลง เช่น เครือ CP ได้ดำเนินโครงการพัฒนาทักษะขนาดใหญ่สำหรับพนักงานที่ได้รับผลกระทบจากระบบอัตโนมัติ โดยมุ่งเน้นที่ทักษะด้านดิจิทัลและเทคโนโลยีขั้นสูงในภาคการเกษตรและโลจิสติกส์ ทาง SCG ก็ได้เปิดตัวโปรแกรมการเรียนรู้ต่อเนื่องเพื่อให้พนักงานมีทักษะในด้านความยั่งยืน การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล และกระบวนการผลิตขั้นสูง ธนาคารกสิกรไทย ก็ได้รับมือกับผลกระทบของธนาคารดิจิทัล KBank โดยฝึกอบรมพนักงานใหม่ในบทบาทด้านการวิเคราะห์ข้อมูล ความปลอดภัยทางไซเบอร์ และประสบการณ์ลูกค้า
ความเสี่ยงของการว่างงานในปี 2025 นี้ แสดงให้เห็นถึงความจำเป็นในการปรับตัวเชิงรุกทั้งจากบุคคลและองค์กร โดยการลงทุนในพัฒนาทักษะ การยอมรับเทคโนโลยี และความคล่องตัวในการทำงาน จะช่วยให้พนักงานสามารถสร้างความมั่นคงในอาชีพได้ ในขณะที่องค์กรมีบทบาทสำคัญในการสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านนี้ผ่านโปรแกรมฝึกอบรมและการส่งเสริมนวัตกรรม
คลิกอ่าน: เตรียมตัวให้พร้อม! 10 เทรนด์ AI มาแน่ในปี 2025