Blockchain กับผลสำรวจการใช้งานจากผู้บริหารทั่วโลก


PwC เปิดเผยข้อมูลจากรายงาน Blockchain is here. What’s your next move? ที่ทำการสำรวจผู้บริหารจำนวน 600 ราย ใน 15 ตลาดสำคัญทั่วโลก เกี่ยวกับการพัฒนาระบบบล็อกเชนรวมถึงมุมมองต่อศักยภาพของเทคโนโลยีนี้

โดยรายงานนี้ได้สะท้อนให้เห็นถึงสัญญาณที่ชัดเจนว่า หลายองค์กรยังคงมีความกังวลว่า ตนจะถูกทิ้งไว้ข้างหลัง หลังการพัฒนาบล็อกเชนได้ขยายตัวเพิ่มขึ้นทั่วโลก โดยเปิดประตูไปสู่โอกาสทางธุรกิจใหม่ๆ ด้วยต้นทุนที่ลดลง ความรวดเร็วที่เพิ่มขึ้น รวมไปถึง ความโปร่งใส และตรวจสอบได้ที่มีมากขึ้น

สถานะเกี่ยวกับการใช้ Blockchain 

10% กำลังดำเนินโครงการนำร่องในการใช้ระบบบล็อกเชนอยู่

15% ได้นำมาใช้งานจริงแล้ว

32% มีแผนที่กำลังจะพัฒนาโครงการ

20% อยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับเทคโนโลยีนี้อยู่

ศูนย์กลางพัฒนา บล็อกเชน จะย้ายไปที่จีน

ในปัจจุบันประเทศที่ถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าในการพัฒนาโครงการบล็อกเชนมากที่สุดคือ สหรัฐอเมริกา, สาธารณรัฐประชาชนจีน และออสเตรเลีย แต่อย่างไรก็ดีในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า 30% ของผู้บริหารเชื่อว่า จีนจะแซงหน้าสหรัฐฯ ซึ่งจะส่งผลให้อิทธิพลและศูนย์กลางในการพัฒนากิจกรรมบล็อกเชนมาอยู่ที่จีน แทนที่จะเป็นสหรัฐฯ และยุโรป

อุตสาหกรรมไหนใช้ บล็อกเชน มากที่สุด

รายงานยังชี้ให้เห็นถึงความล้ำหน้าของอุตสาหกรรมบริการทางการเงินในการพัฒนาบล็อกเชน โดย

46% อุตสาหกรรมบริการทางการเงิน เป็นผู้นำการพัฒนาบล็อกเชนอยู่ในปัจจุบัน

ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้า กลุ่มอุตสาหกรรมอื่นๆ จะมีศักยภาพในการนำบล็อกเชนเข้ามาใช้งานได้แก่

14% พลังงานและสาธารณูปโภค

14% บริการทางด้านสุขภาพ

12% อุตสาหกรรมการผลิต

ปัญหาของการนำบล็อกเชนมาใช้

45% ผู้บริหารยังมองว่า “ความไว้วางใจ” ยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่สุด

48% เชื่อว่า “ความไม่แน่นอนของกฎระเบียบ” จะเป็นปัจจัยที่ปิดกั้นการพัฒนา

กลุ่มผู้บริหารที่มีความกังวลเกี่ยวกับ “ความไว้วางใจ”

สิงคโปร์ (37%)

สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (34%)

ฮ่องกง (35%)

กลุ่มผู้บริหารที่มีความกังวลเกี่ยวกับ “ความไม่แน่นอนด้านกฎระเบียบ”

เยอรมนี (38%)

ออสเตรเลีย (37%)

สหราชอาณาจักร (32%)

สาเหตุที่ผู้บริหารไม่มีส่วนร่วมในการนำบล็อกเชนมาใช้

ต้นทุนค่าใช้จ่าย (31%)

ความไม่แน่ใจว่าควรเริ่มต้นจากจุดไหน (24%)

ประเด็นเรื่องการกำกับดูแล (14%)

ด้าน นางสาว วิไลพร ทวีลาภพันทอง หุ้นส่วนสายงานธุรกิจที่ปรึกษา บริษัท PwC ประเทศไทย กล่าวว่า เห็นความเคลื่อนไหวของทั้งองค์กรและหน่วยงานกำกับดูแลต่อการพัฒนาเทคโนโลยีบล็อกเชน ซึ่งแม้จะอยู่ในช่วงเริ่มต้นและยังจำกัดอยู่ในวงแคบ เช่น ในกลุ่มอุตสาหกรรมบริการทางการเงินเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ถือว่า สอดคล้องไปกับกระแสโลก ในระยะข้างหน้า คาดหวังว่า จะเห็นความตื่นตัวขององค์กรไทยจากภาคอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่จะเริ่มศึกษาเพื่อนำบล็อกเชนมาพัฒนาในอุตสาหกรรมของตนบ้าง

“ความท้าทายของการนำบล็อกเชนมาใช้ ไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่โลกการเงินเท่านั้น แต่ในธุรกิจอื่นๆ ก็สามารถปรับใช้ได้เช่นกัน โดยการปรับตัวของทั้งภาครัฐและเอกชนไทยต่อการเข้ามาของเทคโนโลยีนี้ จะเป็นส่วนสำคัญต่อการพัฒนาบล็อกเชนในระยะยาว ปัจจัยที่สำคัญยิ่งไปกว่านั้น คือ การศึกษา และทำความเข้าใจในเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งจุดนี้จะช่วยทำให้ผู้ประกอบการมีความได้เปรียบในการคว้าโอกาสใหม่ๆ มาประยุกต์ใช้กับกิจการของตน”