ร้านน้ำผลไม้ปั่นเพื่อสุขภาพ หรือ ร้านเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ (Healthy Drink) อีกหนึ่งธุรกิจเสริมรายได้ ที่หลายคนกำลังให้ความสนใจ เพราะมีปัจจัยสนับสนุนจากแนวคิดห่วงใยในสุขภาพกันมากขึ้น จากตัวเลขการเติบโตของน้ำผลไม้พร้อมดื่มในช่วงระยะ 2-3 ปีที่ผ่านมา มีมูลค่าเกือบ 3, 000 ล้านบาท และการเติบโตของตลาดชาเขียว ก็เป็นสิ่งที่สะท้อนพฤติกรรมผู้บริโภคได้เป็นอย่างดี ด้วยเหตุนี้ ธุรกิจร้านน้ำปั่นในรูปแบบที่ทันสมัย เน้นการใช้วัตถุดิบ คือผลไม้สดและการปั่นแบบสดๆ ณ จุดขาย จึงเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่มีอัตราการเติบโตแบบก้าวกระโดด 200-300% และยังมีทิศทางที่สดใสอย่างต่อเนื่อง ส่วนอีกหนึ่งปัจจัยที่ชวนให้ลงทุน คือ ผผลตอบแทนที่ผู้ประกอบการหลายท่านต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่ามีกำไรไม่ต่ำกว่า 100% โดยจากราคาขายปลีกที่ตั้งไว้ 40-50 บาท (ขนาดแก้ว 16 ออนซ์) จะมีต้นทุนอยู่ที่ 7-15 บาท เท่านั้น ด้วยปัจจัยทั้งหมดจึงกล่าวได้ว่าธุรกิจนี้อยู่ในช่วงกำลังบูม และมีช่องว่างสำหรับผู้ที่จะก้าวมาสู่ธุรกิจนี้อีกมาก ในร้านเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ ควรตกแต่งร้านให้ดูทันสมัยและมีการคิดค้นสูตรใหม่ๆ ให้เหมาะกับลูกค้าทุกกลุ่มเป้าหมาย อาทิ สูตรดูแลผิว สูตรชะลอความแก่ สูตรถนอมดวงตาสูตรบำรุงเส้นผม สูตรบำรุงครรภ์ สูตรเพิ่มพลังงาน เป็นต้นฯ ซึ่งในร้านเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพทั่วๆ ไป จะมีเครื่องดื่มที่เป็นตัวชูโรงอยู่ 3 ประเภท ดังนี้
สมูธตี้ (Smoothy) :
เป็นเครื่องดื่มที่มีการนำผลไม้สดมาปั่นรวมกับโยเกิร์ต นมสด หรือนมเปรี้ยว ที่เรียกว่าสมูธตี้ เพราะลักษณะของเครื่องดื่มที่นุ่มนวล และส่วนผสมทุกอย่างละเอียดเป็นเนื้อเดียวกัน
เฟรปเป้ (Frappe) :
เป็นเครื่องดื่มผลไม้ที่ไม่ใส่โยเกิร์ต นมสด หรือนมเปรี้ยวในการปั่น แต่ส่วนใหญ่จะนำเนื้อผลไม้มาปั่นรวมกับน้ำผลไม้ต่างๆ ทั้งน้ำเชื่อม หรือ น้ำหวาน เพื่อให้มีสีสันสวยงาม
น้ำผลไม้สกัดแยกกาก (SPA Drink) :
เป็นเครื่องดื่มที่จำเป็นต้องมีในร้านเพื่อสื่อถึงคอนเซ็ปต์ความเป็นร้านน้ำผลไม้อย่างแท้จริง น้ำผลไม้สกัดแยกกากเป็นเครื่องดื่มที่สกัดจากผลไม้สด อาจผสมน้ำผลไม้หลายชนิดเข้าไว้ด้วยกัน เพื่อให้มีรสชาติที่ดื่มง่าย เครื่องดื่มชนิดนี้จึงมีคุณค่าต่อร่างกาย วัตถุดิบที่ใช้ในเครื่องดื่มประเภทนี้ อาทิ แอปเปิล กล้วย ส้ม ส้มโอ สตรอว์เบอรี่ สับปะรด แตงโม ฝรั่ง กีวี มะม่วง บีทรูท อโวคาโด แบล็คเบอร์รี่ ราสเบอร์รี่ แครอท เป็นต้น โดยทั่วๆ ไปจะแบ่งประเภทตามสูตรต่างๆ ได้ดังนี้ SPA Drink of Detox : เครื่องดื่มเพื่อล้างพิษ ขจัดของเสียออกจากร่างกาย SPA Drink of Street Buster : เครื่องดื่มเพื่อผ่อนคลาย ลดความเครียด SPA Drink of Energize : เครื่องดื่มเพื่อเสริมสร้างพลังงานให้แก่ร่างกาย SPA Drink of Healthy & Immune Booster : เครื่องดื่มเพื่อการบำบัดโรคภัยไข้เจ็บ ช่วยเสริมสร้างภูมิคุ้มกัน บำรุงร่างกายและดีต่อสุขภาพ SPA Drink of Over – Hang : เครื่องดื่มเพื่อแก้อาการเมาค้าง ทำให้กระปรี้กระเปร่า ข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเปิดร้าน “น้ำผลไม้ปั่นเพื่อสุขภาพ” ปัจจัยสนับสนุน
- จำนวนร้านน้ำปั่นเพื่อสุขภาพในประเทศยังมีโอกาสทางการตลาด
- สร้างผลตอบแทนในอัตราสูงกว่า 100%
- ใช้เงินลงทุนเริ่มต้นเพียงประมาณ 4-50,000 บาท
- หากคุณสามารถสร้างธุรกิจร้านของคุณได้อย่างมีระบบและมีประสิทธิภาพ มีโอกาสที่จะขยายสู่การทำระบบแฟรนไชส์ในอนาคต
ปัจจัยเสี่ยง
- เป็นธุรกิจที่มาแรง อาจจะมีคู่แข่งขันสูง
- เนื่องจากเป็นธุรกิจที่ใช้ผัก ผลไม้สด จึงต้องพิถีพิถันเรื่องความสด สะอาด เพราะหากใช้วัตถุดิบไม่ดี มีลูกค้าดื่มแล้วเกิดอาการปวดท้องหรือท้องเสีย อาจจะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของร้านในระยะยาว
เงินลงทุน สำหรับการเปิดร้านในลักษณะเคาน์เตอร์หรือคีออส มีพื้นที่ร้านอยู่ที่ 4 ตารางเมตรขึ้นไป จะใช้เงินลงทุนอยู่ที่ 40,000 บาทขึ้นไป (ไม่รวมค่าเช่าสถานที่) หรือหากเปิดเป็นร้านขนาดใหญ่ 100 ตารางเมตรขึ้นไป อาจจะใช้เงินลงทุนสูงขึ้น อยู่ที่ประมาณ 500,000 – 2,000,000 บาท ขั้นตอนการเปิดร้าน
- เรียนรู้วิธีการทำเครื่องดื่ม
อาจจะไปเรียนตามสถาบันที่เปิดสอน แล้วนำมาประยุกต์เป็นสูตรเฉพาะของตัวเอง ซึ่งสถาบันที่สอนมักจะมีการแนะนำข้อมูลที่จำเป็นในการทำธุรกิจเช่นแหล่งวัตถุดิบ การเลือกซื้ออุปกรณ์
- มองหาทำเล
ควรเป็นย่านที่มีคนพลุกพล่าน เช่นอาคารสำนักงาน ห้างสรรพสินค้า แหล่งท่องเที่ยว บริเวณสถานีรถไฟฟ้า เป็นต้น
- เลือกซื้ออุปกรณ์
สิ่งที่สำคัญมากๆ คือเครื่องปั่น และเครื่องคั้นน้ำผลไม้สกัดแยกกาก ควรเลือกเครื่องที่มีกำลังการปั่นสูงเพราะจะทำให้ได้เครื่องดื่มที่เนื้อสัมผัสเนียน และช่วยให้ได้น้ำผลไม้ออกมามาก การสูญเสียต่ำ ช่วยประหยัดต้นทุนในระยะยาว ราคาอยู่ที่ 10,000 – 50,000 บาท
- เซ็ทเมนู
เมื่อทุกอย่างพร้อม ก็ได้เวลาเซ็ทเมนูเครื่องดื่มประเภทต่างๆ ของคุณ และควรคิดค้นเมนูใหม่ๆ ให้ลูกค้ามีตัวเลือกที่หลากหลายมากขึ้น
- ตั้งราคา
การกำหนดราคาน้ำผลไม้ปั่นเพื่อสุขภาพนั้น ในทุกๆ ประเภทจะตั้งราคาโดยบวกจากต้นทุนประมาณ 3 เท่า เช่นต้นทุน10 บาท ควรตั้งราคาที่ 30 บาท แต่ในบางทำเล ก็อาจจะตั้งราคาได้มากกว่านั้น เช่น 50-60 บาท เป็นต้น เรียบเรียงจาก : หนังสือเปิดร้าน…ไม่ยากอย่างที่คิด