จุดเริ่มต้นของการล่มสลายของธุรกิจสื่อ จากการเข้ามาของ social media แนวความคิดเรื่องนี้มีมาอย่างต่อเนื่องจากประเทศทางตะวันตก โดยเฉพาะในอเมริกา มีความเชื่อว่าในเร็ววันนี้สำนักข่าวจะหมดความสำคัญ เพราะเจ้าของแบรนด์ต่างๆ สามารถทำการสื่อสารกับลูกค้าของตนเองได้โดยตรงผ่านเครื่องมือโซเชียลต่างๆ นั่นจึงนำไปสู่การเปลี่ยนรูปแบบของสำนักข่าวจากเดิมที่เป็นตัวกลางในการนำเสนอข้อมูลข่าวสาร กลายเป็นสำนักข่าวประจำแบรนด์เพื่อทำการสื่อสารกับลูกค้าของแบรนด์โดยตรง นั่นเป็นที่มาของ Your Brand, Next Media Company แล้วนัก นิเทศศาสตร์ ของไทยต้องปรับตัวกันอย่างไร
ยุคฝันหวานของนิเทศศาสตร์
ก่อนที่่เราจะเข้าสู่ยุคของ Digital TV มีการขายฝันและขายความหวังกันมากมายว่า จะเป็นยุคทองของนิเทศศาสตร์อีกครั้ง เพราะคาดหวังว่าจำนวนช่องทีวีที่เพิ่มมากขึ้นจะสร้างงานให้กับคนสายนี้อย่างมากมาย แต่เมื่อเจอกับความจริงที่ว่าเม็ดเงินโฆษณาไม่ได้เพิ่มขึ้นเลย จำนวนช่องทีวีที่เพิ่มมากขึ้นก็เหมือนกับเพิ่มตัวหารให้ได้เงินกันน้อยลง เงินไม่มางานไม่เพิ่มลงทุนไม่ไหว content ก็เลยไม่น่าสนใจ โฆษณาที่ว่าน้อยก็น้อยลงไปอีก นำไปสู่ยุคตกต่ำของวงการสื่อทีวีเลยก็ว่าได้
นิเทศศาสตร์ฝันสลายเมื่อสื่อไปไม่รอด
บวกกับกระแส social media ที่ทำให้ใครก็พร้อมจะทำตัวเป็นสื่อ เพราะสามารถติดต่อกับใครโดยตรงก็ได้ ทำให้บทบาทของสื่อลดความสำคัญ เท่านั้นยังไม่พอยังพบว่าสื่อกระแสหลักไปนำเอาเรื่องราวในโลกโซเชียลมานำเสนอ ยิ่งเป็นการตอกย้ำเข้าไปอีกว่าสื่อกระแสหลักกำลังหมดความสำคัญและจะไปไม่รอดในที่สุด ทำให้เกิดกระแสรุนแรงถึงขั้นการจะปิดการเรียนการสอนสาขานิเทศศาสตร์กันเลยทีเดียว ซึ่งเรื่องนี้มีบางอย่างผิดเพี้ยนไปอย่างที่ควรจะเป็น
ธุรกิจสื่อไม่ได้ตาย เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบ
หากใครกำลังคิดว่าอีกหน่อยไม่มีใครอ่านข่าวแล้ว เพราะคนทั่วไปทำได้ดีกว่าและเร็วกว่า เรื่องนี้อาจจะจริงบางส่วนตรงที่ว่า “เร็วกว่า ตรงกลุ่มกว่า” แต่ถ้ามองเข้าไปลึก skill ที่ใช้ในความเร็วกว่าและตรงกลุ่มกว่า ก็คือทักษะทางด้านนิเทศศาสตร์นั่นเอง ถ้าใครเขียนหรือสื่อสารไม่เป็นก็ย่อมจะไม่มีใครอ่าน ดังนั้นการที่คนนิยมจะติดต่อกับสินค้าหรือเจ้าของสินค้าโดยตรงก็ยังมีความต้องการทักษะด้านนิเทศศาสตร์อยู่ดี หากเปลี่ยนมุมมองว่าอีกไม่นานทุกแบรนด์สินค้าก็จะต้องทำตัวเป็นสำนักข่าวเอง นำเสนอแต่เรื่องราวที่เกี่ยวข้องและเป็นประโยชน์ต่อลูกค้าของตัวเอง ผ่านทุกช่องทางที่มีอยู่ ใช่แล้วทุกแบรนด์จะกลายเป็นสำนักข่าว แล้วสำนักข่าวจะต้องการอะไรถ้าไม่ใช่นักนิเทศศาสตร์
ทุกแบรนด์ต้องการนักนิเทศศาสตร์
ทุกวันนี้คำว่า content ถูกใช้กันอย่างมากมาย โดยเฉพาะในวงการของการตลาด เพราะทุกวันนี้แบรนด์จะทำอะไรก็ต้องมี content ที่ดี แล้ว content ที่ดีมาจากไหนถ้าไม่ใช่มาจากนักนิเทศศาสตร์ ตำแหน่งในหน้าที่การงานจะมีการเปลี่ยนรูปไปบ้าง จากเดิมที่จบนิเทศศาสตร์ก็อยากจะเป็น “นักข่าว” แต่ตำแหน่งงานในวันนี้จะกลายเป็น “content” ตอนนี้แทบจะทุกบริษัทต่างการทำการรับสมัครตำแหน่งงานนี้กันทั้งนั้น ซึ่งความสามารถหลักก็คือทักษะของนักนิเทศศาสตร์เป็นแกนหลัก แล้วแบบนี้ภาคการศึกษาจะหยุดการสอนสาขานี้ได้อย่างไร
ติดอาวุธเสริมเขี้ยวเล็บให้นิเทศศาสตร์
จริงอยู่ที่โลกเปลี่ยนไปมากเครื่องมือในการสื่อสารก็มีเพิ่มมากขึ้น แต่แกนหลักของนิเทศศาสตร์ยังมีความจำเป็น เพราะถ้าหากไม่มีความสามารถในแกนหลักแล้วจะสื่อสารกับคนหมู่มากให้มีประสิทธิภาพได้อย่างไร หากเราเพิ่มความรู้ในเรื่องของลักษณะของ Social Media แต่ละตัวเข้าไปว่ามีจุดอ่อนจุดแข็งตรงไหน ตัวไหนต้องใช้ภาษาแบบไหนถึงจะสื่อสารกับกลุ่มคนในสื่อนั้นๆ ได้อย่างถูกต้อง ส่วนเนื้อหาก็อาจจะกลายเป็นเนื้อหาของแต่ละแบรนด์ไป ในต่างประเทศจึงมีอาชีพที่เรียกว่า brand journalism มาระยะหนึ่งแล้ว