แกล้งดิน ให้หายเปรี้ยว ฟื้นสภาพดินริมชายฝั่งทะเล


ดินเปรี้ยวคือดินที่มีความเป็นกรดอย่างรุนแรงเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้การเจริญเติบโตของพืชและผลผลิตของพืชตกต่ำ เพราะทำให้ความเป็นประโยชน์ของธาตุอาหารหลักของพืชลดลงหรือมีไม่พอเพียงต่อความต้องการของพืช ธาตุอาหารของพืชที่มีอยู่ในระดับต่ำคือ ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส ส่วนธาตุอาหารของพืชบางชนิดมีเกินความจำเป็นซึ่งจะก่อให้เกิดอันตรายต่อการเจริญเติบโตและผลผลิตของพืชที่ปลูก เช่น อลูมิเนียม เหล็ก แมงกานีส และความเป็นกรดจัดยังมีผลต่อกิจกรรมของจุลินทรีย์ที่อาศัยอยู่ในดินและมีประโยชน์ต่อพืชมีปริมาณที่ลดลง จึงเป็นที่มาของการ แกล้งดิน

โครงการศึกษาทดลองการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยวอันเนื่องมาจากพระราชดำริแนวทฤษฎีการแก้ไขปัญหาดินเปรี้ยว โดยใช้แนวทฤษฎี “แกล้งดิน” ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เริ่มจากการ แกล้งให้ดินเปรี้ยว ด้วยการทำให้ดินแห้งและเปียกสลับกันไป เพื่อเร่งปฏิกิริยาทางเคมีของดิน เป็นการ แกล้งดินให้เปรี้ยวจนถึงสุดขีด

จากนั้นจึงใช้วิธีการแก้ปัญหาดินเปรี้ยวตามแนวพระราชดำริต่อไป โดยป้องกันไม่ให้น้ำเค็มหรือน้ำกร่อยเข้ามาในบริเวณพื้นที่ และจะต้องใส่สารปรับปรุงดินพวกปูน เช่น ปูนขาว ปูนมาร์ล หินปูนบดละเอียดหรือเปลือกหอยเผาเพื่อให้ทำปฏิกิริยาแก้ความเป็นกรดในดิน ควบคู่ไปกับการใส่ปุ๋ยเพื่อเพิ่มธาตุอาหารพืช ซึ่งถือเป็นลู่ทางที่เหมาะสมในการแก้ปัญหาดินเปรี้ยวจัดเพื่อเพิ่มปริมาณผลผลิตให้สูงขึ้น

ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคม รวมทั้งเป็นการแก้ปัญหาการใช้ทรัพยากรดินให้เกิดประโยชน์อย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพ และยั่งยืนต่อไป

ที่มา : http://www.most.go.th/main/th/knowledge/sti-genius-of-king/7360-2018-06-19-05-01-18