การสื่อสาร ช่วยลดความทุกข์เข็ญของคนในพื้นที่ห่างไกล


พระราชอัจฉริยภาพด้านวิทยุสื่อสาร เป็นพระอัจฉริยภาพหนึ่งในหลายด้านของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อทรงสำเร็จการศึกษาพระองค์ก็ทรงเสด็จกลับประเทศไทย และได้ทรงเสด็จพระราชดำเนินย่ำพระบาทไปในหลายพื้นที่ที่ล้วนแล้วแต่เป็นพื้นที่ห่างไกล ทุรกันดาร การเสด็จในแต่ละครั้งนอกจากการคมนาคมด้วยถนนหนทางแล้ว สิ่งที่จะทำให้เจ้าหน้าที่หรือชาวบ้านในพื้นที่ห่างไกล สามารถติดต่อกับคนภายนอกได้หรือขอความช่วยเหลือจากทางการเมื่อเกิดทุกข์เข็ญได้นั่นก็คือ การสื่อสาร

ด้วยเหตุนี้ ในปี พ.ศ. 2511 พระองค์ทรงเริ่มต้นจริงจังกับระบบวิทยุสื่อสาร โดยทรงใช้เครื่องรับ – ส่งวิทยุ VHF/FM FM-5 เพื่อเฝ้าฟังเหตุการณ์ต่าง ๆ ภายในบ้านเมือง และติดต่อกับเครือข่าย “ปทุมวัน” และ “ผ่านฟ้า” นอกจากนี้ พระองค์ทรงสนใจตรวจซ่อมและปรับแต่งเครื่องรับ – ส่งวิทยุสื่อสารที่ทรงใช้งานอยู่ด้วยพระองค์เอง และยังทรงสนพระทัยด้านสายอากาศและสายนำสัญญาณ

โดยรับสั่งว่า “การรับวิทยุก็ดี การส่งวิทยุก็ดี ถ้าไม่มีสายอากาศหรือสายอากาศไม่ดี จะใช้เครื่องส่งกำลังสูงเพียงใด เครื่องรับจะดีเพียงใด ก็ไม่สามารถช่วยให้การสื่อสารทางวิทยุมีประสิทธิภาพสูงได้” ทรงมีพระราชดำริให้ทำการศึกษาวิจัย รวมถึงการออกแบบและสร้างสายอากาศย่านความถี่สูงมากหรือที่เรียกว่า VHF เพื่อพัฒนาสายอากาศให้นำมาใช้ประโยชน์แก่ประเทศชาติ

และในบางโอกาสยังทรงพระราชทานคำแนะนำทางด้านเทคนิคเกี่ยวกับการปรับแต่งเครื่องรับ – ส่งวิทยุที่มีความซับซ้อน ตลอดจนพระราชทานความรู้เกี่ยวกับสายอากาศและการเผยแพร่กระจายคลื่น และลักษณะการถูกรบกวนของคลื่นวิทยุในข่ายต่าง ๆ และวิธีการที่จะแก้ไขการรบกวนนั้นด้วย

พระองค์ทรงนำความรู้เกี่ยวกับคลื่นวิทยุมาใช้ในการช่วยเหลือราษฎร และพัฒนาประเทศให้มีความทันสมัย อีกทั้งพระองค์ยังทรงมองเห็นว่าเทคโนโลยีการสื่อสารคือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้การงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงเริ่มมีแนวคิดที่จะพัฒนาอุปกรณ์การสื่อสารอื่น ๆ นอกเหนือไปจากวิทยุ อาทิเช่น จัดตั้งสถานีวิทยุ อ.ส. พระราชวังดุสิต การศึกษาด้วยระบบทางไกลผ่านดาวเทียม วิทยุสื่อสารส่วนพระองค์หรือที่เราคุ้นหูกันในชื่อ “VR009”

 

รูป : http://www.wb6nvh.com/mystry/mystry3.htm

ที่มา : http://www.most.go.th/main/th/knowledge/sti-genius-of-king/7364-2018-06-19-06-48-27