สตาร์ทอัพ คืออะไรแล้วแบบไหนถึงจะเรียกว่า Startup


เชื่อว่าช่วงนี้คงจะได้ยินคำว่า สตาร์ทอัพ กันอยู่บ่อยๆ หลายคนอาจจะสงสัยว่าธุรกิจที่มีชื่อเรียกแบบนี้มันคืออะไรกันแน่ ต้องเป็นเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอย่างเดียวหรือเปล่า หรือเป็นเรื่องอื่นๆ ก็ได้ มาดูกันว่าแท้จริงแล้วธุรกิจที่ว่านี้มันคืออะไรกันแน่

ก่อนอื่นเรามาไล่เรียงความหมายของคำที่จะเจอในวงการ สตาร์ทอัพ กันก่อน
Growth = การเติบโต

Repeatable = การทำซ้ำ

Scalable = การขยายตัว

Technology = เทคโนโลยี

Industry Disruption = การทำลายอุตสาหกรรม

 

ซึ่งคำทั้่งหมดนี้นำมาเรียบเรียงเป็นคุณสมบัติของ Startup ได้แบบนี้

“ธุรกิจสตาร์ทอัพคือ ธุรกิจที่เริ่มต้นจากการแก้ปัญหาจุดเล็กๆ แล้วมีการเติบโตแบบก้าวกระโดดโดยมีการออกแบบให้ธุรกิจสามารถทำซ้ำง่ายและขยายตัวได้เร็ว มีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยทำให้มีต้นทุนต่ำ สามารถแข่งขันกับธุรกิจในอุตสาหกรรมยักษ์ใหญ่แบบเดิมได้ง่าย หลายครั้งนำไปสู่การล่มสลายของธุรกิจแบบดั้งเดิมในที่สุด”

ยกตัวอย่างของธุรกิจช่างซ่อมบ้าน หากเป็นการทำธุรกิจในรูปแบบเดิมก็ต้องเริ่มต้นจากการระดมเอายอดฝีมือในการซ่อมบ้านเข้ามาอยู่ในสังกัดก่อน จากนั้นก็ทำการหาที่ในการเปิดสำนักงาน แล้วจึงเริ่มทำการประชาสัมพันธ์ให้คนรู้จักและจดจำ เพื่อนำไปสู่การเรียกใช้บริการในที่สุด เมื่อจะทำการขยายสาขาก็ต้องทำให้รูปแบบเดิมคือหาคนหาที่แล้วก็ทำการตลาด จะเห็นได้ว่าการจะขยายสาขาแต่ละทีนั้นต้องใช้กำลังคนและกำลังเงินมากมายกว่าจะเปิดสาขาเพิ่มได้

หากนำตัวเอย่างของธุรกิจเดิมมาปรับเปลี่ยนเป็นแนวทางของ Startup จะมีการนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในเรื่องของการขยายตัวและลดต้นทุน กล่าวคือแทนที่จะเริ่มต้นธุรกิจด้วยการหายอดฝีมือมาเก็บไว้กับตัวก็ทำการสร้างแอพพลิเคชั่นเพื่อเป็นช่องทางในการติดต่อกับช่างฝีมือจากที่ต่างๆ ในขณะเดียวกันก็ใช้แอพพลิเคชั่นเป็นช่องทางในการติดต่อลูกค้าที่ต้องการใช้บริการช่างฝีมือ

เมื่อสามารถนำเอา Demand กับ Supply มาเจอกันได้ก็ทำให้เกิดธุรกิจได้ โดยที่ไม่ต้องทำการระดมยอดฝีมือมาเก็บไว้กับธุรกิจของตัวเองไม่ต้องหาเงินเช่าสำนักงาน ด้วยการออกแบบธุรกิจแบบนี้ทำให้สามารถขยายตัวไปยังช่างฝีมือที่มีอยู่ในทุกตรอกซอกซอย รองรับลูกค้าได้ทุกพื้นที่โดยไม่ต้องกังวลเรื่องของระยะทางอีกต่อไป ช่างคนไหนอยู่ใกล้ก็สามารถเรียกใช้บริการจากคนนั้นได้เลย เพิ่มเติมความสมบูรณ์เข้าไปอีกหน่อยด้วยระบบการจ่ายเงินแบบ e-payment ถ้าทำแบบนี้ได้จะขยายตัวออกไปนอกประเทศหรือทั้งโลกก็ใช่ว่าจะเป็นเรื่องยาก พอจะมองเห็นวิถีแบบสตาร์ทอัพกันบ้างหรือยัง

นี่เป็นแค่ส่วนเริ่มต้นที่เราได้ทำความเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจ Startup ยังคงมีเรื่องราวที่น่าสนใจอีกมากมายใน Ecosystem ของเรื่องนี้ เราจะนำเอาเรื่องราวที่น่าสนใจของวงการสตาร์ทอัพมาเล่าสู่กันฟังอย่างต่อเนื่อง ติดตามและเรียนรู้ไปพร้อมๆ กัน