Facebook โดนปรับ 21 ล้าน จากกรณีถูกล้วงข้อมูลผู้ใช้งาน


ข่าวเรื่อง Facebook ถูกขโมยข้อมูลผู้ใช้งานนั้น อาจจะไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะตั้งแต่ปี 2559 จากเรื่องของ เคมบริดจ์ อนาลิติกา มาล้วงข้อมูลไปเอื้อประโยชน์ต่อการเลือกตั้งของประธานาธิบดีสหรัฐฯ คนปัจจุบัน จากนั้นก็ยังมีข่าวตามมาอีกหลายครั้ง สร้างความไม่พอใจกับหน่วยงานปกป้องข้อมูลของหลายประเทศ

เริ่มจากสำนักงานกรรมาธิการด้านข้อมูล (ICO) ซึ่งเป็นหน่วยงานปกป้องข้อมูลของสหราชอาณาจักร ประกาศปรับบริษัทเฟซบุ๊กเป็นเงินจำนวน 500,000 ปอนด์ หรือราว 21,250,000 บาท จากกรณีที่ปล่อยให้แคมบริดจ์ อนาลิติกา ซึ่งเป็นบริษัทวิเคราะห์ข้อมูลการเมือง สามารถเข้าถึงข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้บริการโดยไม่ได้รับอนุญาต

ตามมาด้วยคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของรัฐบาลญี่ปุ่นมีคำสั่งให้เฟซบุ๊กยกระดับมาตรการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หลังเกิดเหตุข้อมูลรั่วไหลครั้งใหญ่ จนส่งผลกระทบต่อผู้ใช้งานเฟซบุ๊กหลายล้านคนทั่วโลก

นอกจากนี้ ICO ยังระบุว่า เฟซบุ๊กประสบความล้มเหลวในการตรวจสอบแอปพลิเคชั่น และผู้พัฒนาโปรแกรมในการใช้แพลตฟอร์มของบริษัท ค่าปรับดังกล่าวถือเป็นค่าปรับในวงเงินสูงสุดก่อนที่กฎข้อบังคับใหม่มีผลบังคับใช้

นี้เป็นครั้งแรกที่ญี่ปุ่นออกคำสั่งในลักษณะดังกล่าวต่อเฟซบุ๊ก คณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของรัฐบาลญี่ปุ่นซึ่งได้สอบสวนกรณีข้อมูลรั่วไหลร่วมกับทางการอังกฤษนั้น มีคำตัดสินว่า การบริหารจัดการข้อมูลส่วนบุคคลของเฟซบุ๊ก รวมถึงคำชี้แจงที่เฟซบุ๊กได้เผยแพร่ต่อผู้ใช้งานนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม

ส่วนตัวการของเรื่องอย่าง แคมบริดจ์ อนาลิติกายืนยันว่า ทางบริษัทไม่ได้นำข้อมูลโปรไฟล์ของผู้ใช้บริการเฟซบุ๊กไปใช้ในการเอื้อประโยชน์ต่อทีมหาเสียงของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในปี 2559 แต่อย่างใด

ตอนนี้เหมือนกับหน่วยงานปกป้องข้อมูลส่วนบุคคลของประเทศต่างๆ เริ่มไม่พอใจต่อความล่าช้าในการพัฒนาเรื่องการปกป้องข้อมูลของ Facebook เป็นอย่างมาก เชื่อว่าเรื่องนี้จะกลายเป็นประเด็นร้อนแรงอย่างต่อเนื่อง

ทางด้านเฟซบุ๊กระบุว่า ทางบริษัทกำลังพิจารณาคำตัดสินของ ICO และแม้บริษัทไม่เห็นด้วยกับ ICO ในบางประเด็น แต่บริษัทก็ได้มีการดำเนินการเพิ่มเติมมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่เกิดเรื่อง