DTAC คว้าคลื่นความถี่ 900 MHz ในราคากว่า 4 หมื่นล้าน


DTAC คว้าคลื่นความถี่ 900 MHz ในราคากว่า 4 หมื่นล้าน พร้อมเติมเต็มประสิทธิภาพโครงข่ายให้บริการอินเทอร์เน็ต และสร้างความต่อเนื่องการใช้งาน
นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (เลขาธิการ กสทช.) เปิดเผยว่า วันนี้ (28 ต.ค. 2561) บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) ได้เข้าร่วมการประมูลคลื่น 900 MHz (890-895/ 935-940 MHz) และได้คลื่นความถี่ 1 ชุดคลื่นความถี่ ขนาด 2×5 MHz อายุใบอนุญาต 15 ปี ไปครองในราคา 38,064,000,000 บาท เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อีก 2,664,480,000 บาท รวมเป็นเงินทั้งสิ้น 40,728,480,000 บาท

และมติที่ประชุม กสทช. ได้ประกาศให้บริษัท ดีแทค ไตรเน็ต จำกัด (DTN) เป็นผู้ชนะการประมูลคลื่น 900 MHz (890-895/ 935-940 MHz) โดย ดีแทค ไตรเน็ต ต้องชำระเงินค่าประมูลคลื่นงวดที่ 1 เป็นจำนวนเงิน 4,020,000,000 บาท เมื่อรวมภาษีมูลค่าเพิ่ม 7% อีก 281,400,000 บาท รวมเป็นเงินที่ต้องชำระในงวดที่ 1 ทั้งสิ้น 4,301,400,000 บาท ภายในเวลา 90 วัน นับตั้งแต่วันที่ที่ประชุม กสทช. มีมติรับรองผลการประมูล และต้องดำเนินการก่อนการได้รับอนุญาตแล้วเสร็จภายในระยะเวลาดังกล่าวด้วย

สำหรับการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz ในครั้งนี้ แบ่งการชำระเงินค่าประมูลคลื่นความถี่ออกเป็น 4 งวด โดยงวดที่ 1 ชำระ 4,020,000,000 บาท งวดที่ 2 ชำระ 2,010,000,000 บาท งวดที่ 3 ชำระ 2,010,000,000 บาท และงวดที่ 4 ชำระเงินค่าประมูลฯ ส่วนที่เหลือทั้งหมด

นางอเล็กซานดรา ไรซ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC กล่าวว่า ถือเป็นก้าวสำคัญที่ยิ่งใหญ่ของ ดีแทคที่ได้รับใบอนุญาตจากการประมูลคลื่นความถี่ย่าน 900 MHz มาเพื่อให้บริการลูกค้า โดยคลื่นย่านความถี่ต่ำจะช่วยเติมเต็มประสิทธิภาพโครงข่ายให้บริการอินเทอร์เน็ต ไม่ใช่แค่เพียงในเมืองแต่เพิ่มคุณภาพทั่วประเทศโดยครอบคลุมถึงพื้นที่ชนบทห่างไกล

จากการชนะประมูลคลื่น 900 MHz ส่งผลให้ ดีแทคมีบริการคลื่นความถี่ครอบคลุมทั้งย่านคลื่นความถี่ต่ำ (Low-band spectrum) และย่านคลื่นความถี่สูง (High-band spectrum) จากการถือครองใบอนุญาต 900 MHz, 1800 MHz, 2100 MHz และบริการโรมมิ่งบนคลื่น 2300 MHz ของ TOT ที่ ดีแทคเป็นพัทธมิตร ทำให้มีแถบคลื่นความถี่ที่ให้บริการกับลูกค้าทั้งหมดกว้างถึง 110 MHz

ทั้งนี้ ดีแทคจะนำคลื่น 900 MHz มาให้บริการแทนคลื่น 850 MHz อย่างต่อเนื่องเพื่อตอบสนองความต้องการใช้อินเทอร์เน็ตบนมือถือที่เติบโตอย่างรวดเร็วและครอบคลุมทั่วประเทศ นอกจากนี้เพื่อสร้างความต่อเนื่องให้ลูกค้าที่ใช้งานหลังสิ้นสุดระยะเวลาคำสั่งของศาลปกครองกลางที่คุ้มครองการใช้งานของลูกค้า ดีแทคบนคลื่นความถี่ 850 MHz ที่จะใช้งานได้ถึง 15 ธันวาคมนี้