โพลชี้ SMEs ตื่นตัวยกระดับ ‘โลจิสติกส์’ ไปรษณีย์ไทยนำเคอรี่เฉียดฉิว


นางเสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยผลการสำรวจ รูปแบบการใช้และการจัดการ โลจิสติกส์ SMEs ไทย จาก 1,221 ตัวอย่าง พบว่า เอสเอ็มอีไทย ต่างตื่นตัวยกระดับระบบโลจิสติกส์มากขึ้น เชื่อจะมีบทบาทสำคัญตามเทรนด์การเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ช โดยส่วนใหญ่ 26.48% ใช้โลจิสติกส์เพื่อจัดซื้อสินค้า รองลงมา 22.97% เพื่อจัดส่งสินค้า และจัดการสต๊อกสินค้า 18.81%

เมื่อถามถึงระดับความสำคัญ กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ 46.01% ระบุว่า สำคัญปานกลาง และเชื่อว่าในอีก 6 เดือน ถึง 1 ปีข้างหน้า จะมีความสำคัญมาก ส่วนค่าใช้จ่ายด้านโลจิสติกส์ เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายโดยรวมของกิจการ กรณีทำเอง อยู่ที่ 30.56% ส่วนจ้างบริษัทภายนอก อยู่ที่ 13.33% โดยธุรกิจขนาดเล็กจะเก็บสต๊อกสินค้ารอการขาย เฉลี่ย 24 วัน ส่วนธุรกิจขนาดกลาง 35 วัน

นายธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีอาวุโสวิชาการและงานวิจัย และผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ ม.หอการค้าไทย กล่าวถึงรูปแบบการใช้บริการขนส่งของเอสเอ็มอีไทย ว่า กลุ่มตัวอย่าง 60.72% จะดำเนินธุรกิจออนไลน์ โดยขนาดเล็กมีมูลค่าการทำธุรกิจออนไลน์ คิดเป็น 26.52% ของมูลค่าทั้งหมด ส่วนธุรกิจขนาดกลางมีมูลค่า 31.94% ของมูลค่าทั้งหมด โดยส่วนใหญ่กว่า 61.99% จะให้บริการจัดส่งสินค้าฟรี (Free Shipping)

สำหรับผู้ให้บริการจัดส่งสินค้าที่ผู้ประกอบการนิยมมากที่สุด ได้แก่ ไปรษณีย์ไทย 20.37% ซึ่งใกล้เคียงกับ Kerry ที่มีค่าเฉลี่ยที่ 20.06%, บริษัท ขนส่ง 16.76%, LINE MAN 12.78%, บริษัท รถโดยสารเอกชน 10.14%, การรถไฟแห่งประเทศไทย 8.71%, Grab 5.46%, LALAMOVE 2.55%, รถจักรยานยนต์รับจ้าง 1.46%, เครื่องบิน 0.95% และ บริษัทรถขนส่งเอกชน 0.76% นอกจากนี้ ด้านรูปแบบการใช้บรรจุภัณฑ์ กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนจากปัจจัยด้านความแข็งแรง ความปลอดภัยในการขนส่ง รวมถึง เพื่อส่งเสริมการตลาด เช่น ความสวยงาม พกพาสะดวก

นายมงคล ลีลาธรรม กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME Development Bank หรือ ธพว.) กล่าวว่า จากผลสำรวจ จะเห็นว่าเอสเอ็มอีไทยทุกกลุ่มต่างให้ความสำคัญด้านพัฒนาระบบโลจิสติกส์มากขึ้น ซึ่งธนาคารฯจะนำผลสำรวจนี้ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์สินเชื่อเพื่อตอบตรงความต้องการของเอสเอ็มอีต่อ ขณะเดียวกันธนาคารฯ ก็ได้ดำเนินการมาแล้วหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการสร้างแพลตฟอร์ม SME D Bank ซึ่งเป็นแอปฯ รวบรวมเครื่องมือเสริมแกร่งธุรกิจ (Tools Box) มากกว่า 100 รายการ

ส่วนผู้ประกอบการที่ต้องการลงทุนเทคโนโลยี เพื่อพัฒนาระบบโลจิสติกส์ หรือปรับปรุงบรรจุภัณฑ์ ธนาคารมีสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ เช่น สินเชื่อเถ้าแก่ 4.0 ดอกเบี้ยเพียง 1% ต่อปี ปลอดชำระเงินต้น 3 ปีแรก เพื่อให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีปัญหาทางการเงินสามารถกู้ได้ แม้เคยปรับโครงสร้างหนี้ หรือผ่อนชำระไม่ต่อเนื่องมาก็ตาม