พฤติกรรมเสี่ยงของผู้บริโภคเป็นอุปสรรคต่อ สังคมไร้เงินสด ในไทย


ข้อมูลจากธนาคารแห่งประเทศไทย พบว่าการเติบโตของ สังคมไร้เงินสด หรือการชำระเงินโดยไม่ใช้เงินสดเพิ่มขึ้น หลังจากการกำหนดมาตรฐานของการชำระเงินผ่านระบบ QR code และการเปิดตัวบริการการชำระเงินผ่านโทรศัพท์มือถือ

ทำให้เกิดช่องว่างที่กว้างขึ้นระหว่างความเข้าใจเรื่องสังคมไร้เงินสด และพฤติกรรมความปลอดภัยในโลกไซเบอร์ของผู้บริโภคที่หละหลวมมีส่วนเพิ่มความเสี่ยงต่อการทุจริตทางการเงินและการสูญเสียทางเศรษฐกิจ

ขณะที่การตอบรับกระแสสังคมไร้เงินสดเพิ่มขึ้นนั้นเป็นสัญญาณด้านบวกให้เห็นถึงเป้าหมายที่ชัดเจนของประเทศไทยในเรื่องนี้ แต่พฤติกรรมการใช้งานในโลกไซเบอร์ที่ย่ำแย่อาจส่งผลทำให้ลูกค้าสถาบันการเงินและธนาคาร มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปัญหาการฉ้อฉลและการสูญเสียทางการเงิน

VMware อิงค์ ผู้นำนวัตกรรมซอฟต์แวร์สำหรับองค์กร ได้เปิดเผยข้อมูลจาก VMware Banking Consumer 2020 Study ฉบับใหม่ พบว่าลูกค้าคนไทยมากถึง 35% ไม่ได้มีมาตรการที่ดีในการรักษาความปลอดภัยข้อมูลทางการเงิน โดยพบว่ามีการตั้งรหัสผ่านเดียวกันสำหรับการเข้าใช้บริการเกือบทุกตัว และรหัสผ่านเหล่านั้นมักจะมีข้อมูลส่วนตัวรวมอยู่ด้วย

ผู้บริโภคคนไทย 86% เก็บข้อมูลบัญชีธนาคารไว้ในแอปพลิเคชั่นมากสูงสุดถึง 6 ตัว มีเพียง 30% ที่มีพฤติกรรมที่ดีในการใช้งานทางไซเบอร์โดยใช้รหัสผ่านที่แตกต่างกันสำหรับบัญชีธนาคารของเขาทั้งหมด แต่ถึงกระนั้นก็ตาม ประเทศไทยถูกจัดว่าดีที่สุดในภูมิภาค โดยมีสัดส่วนสูงกว่าค่าเฉลี่ยในภูมิภาคนี้ 24%

การสำรวจครั้งนี้ยังพบว่า ผู้บริโภคในประเทศไทยไม่ค่อยให้ความสำคัญกับระดับการรักษาความปลอดภัยที่มาพร้อมกับวิธีการชำระเงินแบบใหม่เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งรวมถึงการใช้อุปกรณ์เชื่อมต่อกับ IoT กระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ และแอปพลิเคชันต่างๆ

ดังนั้นธนาคารและสถาบันการเงินจำเป็นต้องรับภาระหนักขึ้นเพื่อให้วิธีการชำระเงินแบบใหม่เหล่านี้มีความปลอดภัย ผ่านการใช้นวัตกรรมและการจัดวางระบบโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง ในทางกลับกัน ผู้บริโภคในสิงคโปร์และมาเลเซียไม่ค่อยเชื่อมั่นหรือไว้วางใจในวิธีการชำระเงินแบบใหม่นี้ และรู้สึกสบายใจกว่าที่จะใช้วิธีการทำธุรกรรมแบบเดิม เช่น การใช้เงินสดและบัตรเอทีเอ็ม