4 วิธีจัดระเบียบการเงิน ฉบับคนรุ่นใหม่


ปัจจุบัน เป็นยุคที่ซื้อง่าย ขายคล่อง ไม่ว่าจะใช้จ่ายอะไรก็ทำได้ง่าย เร็ว สะดวก เพราะมีบริการทางออนไลน์ต่างๆ ทั้งการขายของออนไลน์ การจ่ายเงินออนไลน์ และอื่นๆ มาอำนวยความสะดวกในการใช้เงินของผู้คนมากขึ้น โดยเฉพาะวัยรุ่น และวัยทำงานหรือมนุษย์เงินเดือน ที่มักจะใช้เงินกันอย่างลืมตัว เกินตัว จนนำไปสู่การกู้ยืมทั้งจากในและนอกระบบ และกลายเป็นหนี้สินในที่สุด

ซึ่งหากดูจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทยในไตรมาสแรกปีนี้ ระบุว่า สถานการณ์หนี้ครัวเรือนของประเทศไทยยังอยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วง มีสัดส่วนหนี้ครัวเรือนต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) สูงถึง 77.6% และมียอดคงค้างหนี้ครัวเรือนสูงกว่า 12 ล้านล้านบาท ซึ่งส่วนใหญ่ปัญหาหนี้ครัวเรือนเกิดจาก การใช้จ่ายที่เกินตัวและไม่ระวัง และกลุ่มคนที่มีอายุระหว่าง 25-35 ปี เป็นกลุ่มที่ไม่สามารถจัดสรรรายจ่ายให้เหมาะสมกับรายรับได้ จึงทำให้มีหนี้สินเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว และถ้าไม่รู้จักวิธีการบริหารจัดการที่เหมาะสม ก็จะมีหนี้สินพอกพูนไปเรื่อยๆ ดังนั้น ความรู้ด้านการจัดระเบียบทางการเงิน เป็นสิ่งสำคัญที่ทุกควรรู้ และปฏิบัติ

นางสาววันวิสาข์ โคมินทร์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายสื่อสารองค์กร ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า ธนาคารซิตี้แบงก์ได้เล็งเห็นถึงปัญหาหนี้ครัวเรือนที่อาจมีเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต ทางมูลนิธิซิตี้ ซึ่งมีพันธกิจในการส่งเสริมความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ เพื่อพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่ของผู้มีรายได้น้อย ในชุมชนทั่วโลก จึงจับมือกับสถาบันคีนันแห่งเอเชียจัด “โครงการพัฒนาเครือข่ายองค์กรชุมชน เพื่อสร้าง ความมั่นคงทางการเงิน” ขึ้น เพื่อสร้างเสริมความรู้และวินัยทางการเงินที่ดีสำหรับกลุ่มผู้มีรายได้น้อย ผ่านการให้ความรู้ฝึกอบรมด้านการจัดสรร และบริหารการเงินส่วนบุคคล ครอบคลุมตั้งแต่เรื่องการกำหนดเป้าหมายทางการเงิน ไปจนถึงการบริหารจัดการหนี้สิน ซึ่งเป็นเสมือนขั้นตอนหลักที่ควรปฏิบัติ ในการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของแต่ละบุคคล

โดยวิธีการจัดระเบียบทางการเงินขั้นพื้นฐานที่จะทำให้มีเงินออมเพิ่มขึ้น สามารถลดภาระหนี้สิน และแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนได้อย่างมีประสิทธิภาพในระยะยาวที่ทำได้ง่ายๆ มี 4 วิธีหลักดังนี้

 

  1. การกำหนดเป้าหมายทางการเงิน

    โดยจะต้องมีเป้าหมายที่ชัดเจน ว่ามีความต้องการที่จะเก็บเงินจำนวนเท่าไหร่ สำหรับการทำอะไรในอนาคต เพื่อนำไปสู่การจัดสรรเงินที่เหมาะสม และบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้

  1. การบริหารรายรับ-รายจ่ายที่มีในแต่ละเดือน

    ซึ่งรายจ่ายควรเหมาะสมกับรายรับที่ได้ โดยจะต้องมีการจดบัญชีครัวเรือนหรือรายรับ-รายจ่ายเป็นประจำทุกเดือน และวางแผนการค่าใช้จ่ายของแต่ละเดือนไว้ล่วงหน้า

  1. การออมเงิน

    จะต้องมีการออมอย่างสม่ำเสมอในแต่ละเดือน ควรจะหักจากรายรับส่วนหนึ่งก่อนคำนวณรายจ่ายเสมอ เพื่อจะได้มีเงินออมสำหรับอนาคต และสามารถบรรลุเป้าหมายทางการเงินที่ตั้งไว้ได้

  1. การบริหารจัดการหนี้สิน

    จะต้องมีการชำระอย่างตรงเวลาในทุกๆ เดือน จนกว่าจะครบตามจำนวณโดยการชำระหนี้สินจะเป็นส่วนหนึ่งในของรายจ่ายที่จำเป็นต้องใช้ ซึ่งถ้ามีการจัดสรรรายรับ-รายจ่ายได้อย่างเหมาะสม หนี้สินก็จะน้อยลงในทุกๆเดือน

ทั้งนี้ 4 วิธีดังกล่าว เป็นวิธีปฏิบัติที่ไม่ยากเกินจะทำ สามารถเริ่มทำได้ตั้งแต่วัยรุ่น เพื่อสร้างวินัยทางการเงินของตนเองตั้งแต่เนิ่นๆ เพื่อในอนาคตมีเงินเดือนก็จะได้สามารถจัดระเบียบการเงินได้อย่างดี ซึ่งซิตี้แบงก์เองก็ได้สนับสนุนการสร้างวินัยทางการเงินให้แก่เด็กและวัยรุ่น ผ่านกิจกรรมเพื่อสังคมของมูลนิธิซิตี้มาตลอด และการร่วมมือกับสถาบันคีนันครั้งนี้ มีอีกจุดประสงค์ คือเพื่อต่อยอดเสริมสร้างความรู้การบริหารการเงินให้แก่ทั้งเด็ก วัยทำงานหรือมนุษย์เงินเดือนในยุคปัจจุบัน ให้สามารถเพิ่มพูนเงินออมและลดหนี้สินได้