เศรษฐศาสตร์ ธุรกิจเกษตร สินค้ามากเงื่อนไข แต่น่าลงทุน


++ผศ.สุภาภรณ์ เลิศศิริ อาจารย์ประจำภาควิชาส่งเสริมและนิเทศศาสตร์เกษตร คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ บางเขน อธิบายว่า ธุรกิจเกษตรเป็นสินค้าที่มีเงื่อนไขเยอะ เริ่มตั้งแต่การปลูกที่ต้องขึ้นอยู่กับสภาพดิน ฟ้า อากาศ สถานที่ เรื่องของระยะเวลาในการออกผลผลิต เสี่ยงต่อโรคและแมลง เป็นสินค้าที่ผลิตผลกินพื้นที่ในการขนส่ง จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้สินค้าเกษตรมีความแตกต่างจากสินค้าประเภทอื่นๆ

++ธุรกิจเกษตรแบ่งเป็น 3 กลุ่ม เริ่มตั้งแต่กลุ่มปัจจัยการผลิต เช่น เมล็ดพันธุ์ เครื่องจักรกลการเกษตร ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง กลุ่มการผลิตพื้นฐาน เช่น การปลูกพืช เลี้ยงสัตว์ ประมงก็นับเป็นสินค้าเกษตรด้วย แต่ในแง่ของ GDP จะแยกกันเพราะมีมูลค่าค่อนข้างสูง ทั้งปัจจัยการผลิต และการผลิตพื้นฐานถือเป็น “ธุรกิจเกษตรต้นน้ำ”

++จากนั้นจะเริ่มมาเป็น “ธุรกิจเกษตรแปรรูป” ซึ่งไม่ใช่สินค้าเกษตรโดยตรง มีตั้งแต่แปรรูปอย่างง่าย เช่น การปอก การหั่น การเอาผลผลิตมาล้างทำความสะอาด แล้วรวมเป็นกำๆ เพื่อส่งขายก็ถือว่าเป็นการแปรรูป กับอีกอย่างคือ การแปรรูปที่เข้าข่ายโรงงานอุตสาหกรรม เปลี่ยนสภาพผลผลิตไป เช่น ผลไม้กระป๋อง เครื่องสำอาง เครื่องดื่ม ฯลฯ ถือเป็นการเกษตรกลางน้ำ

++ต่อมาจะเป็นช่วงปลายน้ำคือ “ระบบย่อยการจัดจำหน่าย” โดยมีผู้เกี่ยวข้องมากมาย เช่น ข้าว จะมีตัวแทนจากโรงสี มีทั้งขายส่ง ขายปลีก ซึ่งบางทฤษฎีจะแยกออกมาเนื่องจากเกษตรกรในเมืองไทยส่วนใหญ่เป็นรายย่อย เพราะฉะนั้นสินค้าเกษตรจึงกระจายตัวกันอยู่ จึงต้องรวบรวมด้วยระบบจัดจำหน่าย รวมถึงกสนส่งออกด้วย นี่คือภาพของธุรกิจเกษตร มีตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ขึ้นอยู่กับว่าจะจับธุรกิจตรงส่วนไหน

++10 ปัจจัยกำหนด “เทรนด์” สินค้าเกษตร

++การจะทำธุรกิจ “เทรนด์ของธุรกิจ” คือสิ่งที่ต้องให้ความสำตัญ ธุรกิจเกษตรก็เช่นเดียวกัน ถามถึงเทรนด์ของธุรกิจเกษตร ผศ.สุภาภรณ์ กล่าวว่า สภาพการเมือง เศรษฐกิจ สังคมในแง่การเปลี่ยนแปลงทางโครงสร้างของประชากร จำนวนประชากร และเทคโนโลยี เป็นปัจจัยในการกำหนดเทรนด์ธุรกิจเกษตร ซึ่งพอจะสรุปออกมาได้ 10 เทรนด์ที่ใกล้เคียงกันในหลายประเทศในเอเชีย

++1.สินค้าเป็นมิตรกับส่งแวดล้อม Green Product มีผลต่อโอกาสทางการค้าและรูปแบบการดำเนินธุรกิจของ SMEs ทั่วโลกรวมทั้งในไทย ปัจจุบันผู้บริโภคทั่วโลกมีแนวโน้มที่จะหันมาบริโภคผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม หรือ eco-products มากขึ้น ดังนั้นบรรจุภัณฑ์สินค้าเกษตรจะเปลี่ยนแปลงไป ต้องเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เพื่อรองรับการเติบโตของตลาดกลุ่มนี้

++2.สังคมเปลี่ยนเป็น “สังคมคนเมือง” เพิ่มมากขึ้น การจับจ่ายของคนจะซื้อสินค้าจากร้านสะดวกซื้อ หรือซูเปอร์มาร์เก็ตมากขึ้น ซึ่งร้านค้าเหล้านี้จะมาเกี่ยวข้องในการกำหนดขนาดและรูปลักษณ์ของสินค้าที่จะเข้ามาขาย เช่น กล้วยหอม ถ้าซื้อในตลาดจะต้องซื้อยกหวี แต่ถ้าเข้าไปขายในซูเปอร์มาร์เก็ตจะหั่นขายเป็นลูกๆ ผู้ผลิตจึงต้องปรับแพ็คเกจจิ้งเพื่อให้ตรงกับความต้องการของคนซื้อ

++ 3.ภาวะโลกร้อน ประเด็นนี้จะคล้ายๆ กับ Green Product แต่จะเน้นในเรื่องของการปรับปรุงกระบวนการผลิต ภาวะโลกร้อนทำให้สภาพอากาศเปลี่ยนแปลงไป ทำให้ฤดูกาลเปลี่ยนไป ผลผลิตไม่ออกตามช่วงเวลาเหมือนแต่ก่อน เช่น กุหลาบ ไม่ออกดอกช่วงวาเลนไทน์ ฉะนั้นก็จะต้องหาเทคโนโลยีใหม่ๆ ทางการเกษตรเข้ามาช่วยเร่งให้ได้ผลผลิตป้อนเข้าสู่ตลาดได้ทัน

++4.ปัญหาเรื่องน้ำ ไม่ว่าจะเป็นภาวะน้ำท่วม ขาดแคลนน้ำ การประหยัดน้ำ และความบริสุทธิ์ของน้ำ เพราะน้ำเป็นปัจจัยสำคัญในการเพาะปลูก ฉะนั้นการเลือกธุรกิจเพาะปลูกจะต้องเลือกพื้นที่ปลูกที่มีน้ำ เพราะการเพาะปลูกไม่สามารถเคลื่อนย้ายได้ ซึ่งจะส่งผลให้เกิดเทคโนโลยีการเพาะปลูกแบบใหม่ๆ เกิดขึ้นม้าเพื่อแก้ไขปัญหาพื้นที่เพาะปลูกใกล้น้ำ

++5.การเพิ่มขึ้นของรายได้ประชากร กลุ่มชนชั้นกลางทั่วโลกที่กำลังเติบโต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้บริโภคในกลุ่ม Emerging markets เช่น จีนและอินเดีย ซึ่งมีศักยภาพในการใช้จ่ายสูงมาก ถึงแม้ว่าปัจจุบันผู้บริโภคกลุ่มนี้จะยังมีรายได้ที่ไม่สูงนัก แต่ด้วยแนวโน้มเศรษฐกิจที่มีโอกาสเติบโตสูงในอนาคต ทำให้ผู้บริโภคกลุ่มนี้กำลังอยู่ ในช่วงเปลี่ยนผ่านระดับรายได้และเริ่มมีความต้องการบริโภคสินค้าและบริการฟุ่มเฟือยหรือสินค้าในระดับบนมากขึ้น

++การเพิ่มของรายได้ทำให้ผู้บริโภคต้องการสินค้าคุณภาพไม่ธรรมดา ฉะนั้นสินค้าเกษตรจะไม่ใช่เพื่อกินอย่างเดียวแล้ว แต่ต้องเพิ่มความบันเทิงเข้าไปด้วย เช่น กล้วยตาก ที่ปัจจุบันต้องบรรจุชิ้นกล้วยใส่ถุง ฉีกซองกินทีละชิ้น บรรจุอยู่ในกล่องแพ็คเกจจิ้งสวยงาม เป็นต้น

++6.ความปลอดภัยของอาหาร ปัจจุบันคนกลัวอ้วนและรักษาสุขภาพกันมากขึ้น ฉะนั้น อาหารลดน้ำหนัก และ “อาหารเพื่อสุขภาพ” ยังคงเป็นเทรนด์ของธุรกิจเกษตรอยู่ การปลูก การผลิตจะต้องปลอดภัยไร้สารเคมี เช่น การเกษตรอินทรีย์ สินค้าออร์แกนิค ผักไฮโดรโปนิกส์ รวมถึงการผลิตที่ควบคุมแคลอรี่ของอาหารที่ไม่ทำให้คนอ้วนเกินไป

++ตลาดที่ผู้ประกอบการ SMEs ไม่ควรมองข้าม นอกจากนี้ สินค้าเพื่อสุขภาพอาจไม่จำเป็นต้องใช้เทคโนโลยีการผลิตที่สูงแต่จะเน้นที่คุณค่าและอนามัยของสินค้า ดังนั้น จึงถือเป็นโอกาสของผู้ประกอบการ SMEs ไทยที่จะเข้ามาคว้าโอกาสจากแนวโน้มความต้องการสินค้าเกษตรอินทรีย์และสินค้าออร์แกนิกส์ของโลกที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดยต้องผลิตสินค้าที่มีคุณภาพสูงได้มาตรฐานสากล มีความปลอดภัยในการบริโภคสูง และไม่มีสารพิษตกค้าง

++7.การรวมตัวกันของเขตการค้าต่างๆ ถ้าเป็นใกล้ๆ นี้ก็คือ AEC การรวมตัวกันทำให้ความต้องการเพิ่มมากขึ้น ก็ต้องมาดูว่าเราจะผลิตสินค้าอะไรไปขายใคร ต้องดูกฎ ระเบียบของแต่ละประเทศ การรวมตัวกันของเขตการค้าจะกีดกันด้วยมาตรฐานสินค้าต่างๆ ฉะนั้นผู้ผลิตจะต้องทำให้ได้มาตรฐาน อาทิ GMP, HACCP

++8.Bio Technology เทคโนโลยีชีวภาพ ในเรื่องของการผลิต เช่น ทำให้วิธีการแปรรูปอาหารเปลี่ยนแปลงไป ช่วยให้สินค้าอยู่ได้นานขึ้น หรือมีสินค้าใหม่ๆ เกิดขึ้นมา ถ้าผู้ประกอบการสามารถหาสินค้าใหม่จากเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ ก็จะเป็นการสร้างเทรนด์และผู้นำตลาด เช่น เมื่อก่อนมีน้ำอัดลม ต่อมาก็เป็นน้ำผลไม้ พัฒนาต่อเป็นน้ำผลไม้ผสมกับน้ำดื่มอื่นๆ ปัจจุบันก็เป็นเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ Functional Drink

++9.การก้าวเข้าสู่ยุคสังคมผู้สูงอายุ (aging society) หมายถึงตลาดที่เราจะผลิตสินค้าไปขาย ปัจจุบันวิวัฒนาการทางการแพทย์ที่เจริญก้าวหน้าส่งผลให้อัตราการตายของประชากรโลกลดลง ขณะที่อัตราการเกิดของหลายประเทศทั่วโลกรวมทั้งไทยก็ลดลงด้วย ทำให้ลักษณะทางโครงสร้างประชากรกำลังเปลี่ยนไปสู่สังคมผู้สูงอายุมากขึ้น และผู้บริโภคในกลุ่มนี้กำลังจะกลายเป็นผู้บริโภคกลุ่มใหญ่ที่สุดในตลาดโลก สะท้อนได้จากสินค้าและบริการหลากหลายประเภทที่เกิดขึ้นมาเพื่อสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มนี้โดยเฉพาะ

++10.โครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลง ครอบครัวคนสมัยนี้มีขนาดเล็กลง วัฒนธรรมสมัยนี้คนแต่งงานช้าลง และอยู่คนเดียวมากขึ้น ฉะนั้นรูปแบบของโปรดักส์ก็ต้องปรับให้มีขนาดเล็กลง เข้ากับขนาดของครอบครัว ยกตัวอย่างเช่น ข้าวสารบรรจุถุง 5 กิโลกรัม ก็ปรับขนาดลงมาเหลือถุง 1 กิโลกรัม และเพิ่มวิตามินและคุณค่าโภชนาการอื่นๆ เข้าไปเพื่อเพิ่มความคุ้มค่า

++จับธุรกิจเกษตรตรงไหนถึงจะรวย

                ++ผศ.สุภาภรณ์ กล่าวว่า เกษตรต้นน้ำมีความเสี่ยงในเรื่องของการปลูก แต่ถ้าใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยควบคุมแบบ Smart Farm ความเสี่ยงในการผลิตก็จะลดลง แต่จะใช้เงินลงทุนที่สูง ส่วนปลายน้ำมีความเสี่ยงในเรื่องของการขาย จะต้องมองตลาดให้ออกก่อน

                ++ อ.นักเศรษฐศาสตร์เกษตร ชี้ช่องรวยกับธุรกิจเกษตรว่า “เมื่อก่อนเราอยากปลูกอะไรก็ได้ ถ้าผลผลิตเหลือค่อยนำมาขาย แต่เดี๋ยวนี้ไม่ได้แล้ว ต้องดูตลาดก่อนว่าจะปลูกอะไร ขายใคร ฉะนั้นธุรกิจเกษตรในปัจจุบันต้องมองให้ครบ 3 มุม คือ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ต้องให้ความสำคัญกับตลาดก่อน จะปลูกอะไรให้เป็นที่ต้องการของผู้บริโภค หากลุ่มลูกค้า และสุดท้ายคือเทคโนโลยีที่จะเข้ามาช่วย

            ++คนส่วนใหญ่คิดว่าธุรกิจเกษตร คือการปลูกอย่างเดียว แต่จริงๆ แล้วห่วงโซ่อุปทานของมันยาวมาก ถ้าคุณรู้จักทั้ง 3 มุมแล้ว คุณสามารถไปผลิตสินค้าของคุณได้ เช่น ถ้าเอาความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก คุณก็ชูความเป็นออร์แกนิคขึ้นมา ไม่จำเป็นต้องปลูกเอง แต่เราต้องมั่นใจว่าแหล่งวัตถุดิบที่เราสั่งมีคุณภาพตามที่เราโฆษณาจริงๆ”