Personal Brand…สร้างแบรนด์ให้ตัวคุณ


บ่อยครั้งที่ผู้เขียนได้มีโอกาสไปบรรยายเกี่ยวกับเรื่อง Personal Brand คำถามแรกที่มักจะถามผู้เข้าเรียนหรือผู้เข้าอบรมคือ “ใครคือคนที่คุณประทับใจและอยากใช้เขาเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิต” ไม่ว่าจะเป็นนักการเมือง นักแสดง นักกีฬา หรือผู้นำทางความคิด ทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติ พร้อมทั้งเหตุผลว่าเพราะอะไรถึงเลือกคนเหล่านั้น

คำตอบที่ได้หลายครั้งเป็นชื่อที่ซ้ำ ๆ เหตุผลก็ไม่มีอะไรมาก เป็นเพราะบุคคลเหล่านั้นมีความโดดเด่น และมีภาพจำสำหรับคนอื่นที่มีความชัดเจนมากพอ Personal Brand หรือการสร้างแบรนด์สำหรับบุคคล จึงหมายถึงการสร้างความคิด ความรู้สึก และมุมมองของคนอื่นที่มีต่อตัวคุณ นอกจากนี้ยังหมายถึงภาพลักษณ์ (Image) ที่บุคคลนั้น ๆ ต้องการจะสื่อความหมายถึงบุคคลภายนอก ซึ่งจะเกิดขึ้นได้จากสิ่งที่ตัวคุณทำ สิ่งที่ตัวคุณคิด สิ่งที่ตัวคุณแสดงออกมาอย่างต่อเนื่องนั่นเอง การสร้างแบรนด์ให้ตัวคุณจึงเป็นอีกทางเลือกที่สามารถทำได้คู่ขนานไปกับการสร้างแบรนด์ให้ธุรกิจหรือองค์กร หากคุณโดดเด่นมากพอและบอกได้ว่าคุณเก่งหรือเชี่ยวชาญมากกว่าคนอื่น

5 ขั้นตอนในการสร้างแบรนด์ให้ตัวคุณ

ค้นหาและวิเคราะห์จุดเด่นในตัวคุณ หาตัวเองให้เจอว่าคุณเก่งและโดดเด่นในเรื่องอะไร และต้องเป็นสิ่งที่คุณทำได้ดีกว่าคนอื่น หากเป็นธุรกิจก็คล้าย ๆ กับการทำ SWOT Analysis เพื่อค้นหาจุดแข็ง จุดอ่อน โอกาสและอุปสรรคของตัวคุณเอง ในที่สุดคุณจะค้นพบความเชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Specialization) ของตัวคุณเอง ที่เป็นความสามารถพิเศษหรือความถนัดเฉพาะทางที่โดดเด่นกว่าคนทั่วไป

อยากให้คนจดจำคุณในด้านใด เป็นการค้นหาจุดยืนทางการตลาดหรือ Brand Positioning ต้องเริ่มจากการวิเคราะห์ว่ากลุ่มเป้าหมายของคุณเป็นใคร และคุณสามารถสร้างความเชื่อให้กลุ่มเป้าหมายเชื่อว่าคุณมีศักยภาพด้านนั้นได้จริงหรือไม่ คุณต้องมีความชัดเจน (Clarity) ในสิ่งนั้น เพราะบางทีสิ่งที่คุณอยากเป็น ก็ไม่ใช่สิ่งที่คนอื่นมองเห็นว่าคุณเป็นได้ ดังนั้นการสร้างแบรนด์ให้ตัวคุณที่ขัดแย้งกับมุมมองคนอื่น จึงมีความเสี่ยงที่ไม่สามารถทำให้คนอื่นเชื่อว่าคุณ “ใช่” ในเรื่องนั้น ๆ ได้

สร้างเอกลักษณ์ให้ตัวคุณ ผ่านบุคลิก-วิธีคิด- การกระทำ-ความรู้สึก-น้ำเสียง ต้องมีการสร้างความมั่นคง (Consistency) ให้เกิดขึ้นว่าแบรนด์ของตัวคุณสามารถรักษามาตรฐานได้ตลอดไป ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของบุคลิก วิธีคิด การกระทำ การแสดงความรู้สึก รวมกระทั่งการใช้น้ำเสียงที่จะสะท้อนความเป็นตัวคุณ ยกตัวอย่างคุณสร้างแบรนด์ของตัวเองให้เป็นนักคิด นักสร้างสรรค์ แต่คุณไม่เคยแสดงความเห็น หรือมีบุคลิกที่เฉื่อยชา คิดช้า ทำช้า แบบนี้ก็ไม่เรียกว่ามีความมั่นคงได้เช่นเดียวกัน

นำเสนออย่างต่อเนื่องผ่านช่องทางต่างๆ ในยุคนี้โซเชียลมีเดียถือเป็นช่องทางที่ช่วยให้การสร้าง แบรนด์บุคคลเกิดขึ้นได้โดยง่าย เพื่อเป็นการถ่ายทอดเอกลักษณ์ในตัวคุณไปยังกลุ่มเป้าหมาย ที่คุณควรทำอย่างสม่ำเสมอ อย่างไรก็ตามก็มีข้อควรระวัง เพราะตัวคุณไม่ได้รู้หรือเก่งไปทุกเรื่อง ดังนั้น การแสดงความเห็นหรือการถ่ายทอดข้อมูลต่าง ๆ จึงควรสอดคล้องกับความสามารถและความถนัดที่เป็นข้อโดดเด่นของคุณเท่านั้น

ความสำเร็จของการสร้างแบรนด์ให้ตัวคุณ คือต้องทำให้คน “Trust” หรือเชื่อมั่นในตัวคุณ และ “Trust” จะเกิดขึ้นได้ เมื่อคุณทำสิ่งเหล่านั้นอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ความล้มเหลวของ Personal Brand คือตัวคุณไม่สามารถรักษาพันธะสัญญาที่ให้ไว้กับกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริง ก่อนสร้างแบรนด์ให้ตัวคุณ คุณจึงต้องตั้งคำถามให้ตัวเองครั้งแล้วครั้งเล่าว่าคุณจะเป็นในสิ่งนั้นและจะทำได้ต่อเนื่องหรือไม่ หากยังไม่มั่นใจก็ไม่แนะนำให้ทำ เพราะเมื่อใดก็ตามที่ภาพลักษณ์คุณเสียหาย ผลกระทบที่ตามมา จะไม่เกิดขึ้นกับตัวคุณเองเท่านั้น แต่ยังจะส่งผลถึงธุรกิจและผลิตภัณฑ์ที่อยู่ภายใต้การดูแลของคุณอีกด้วย

และที่สำคัญแบรนด์บุคคลยิ่งใหญ่กว่าตัวบุคคล เพราะแม้ชีวิตของบุคคลจะสูญสิ้นไปแต่หากบุคคลนั้นมีการสร้างแบรนด์ขึ้นมาแบรนด์ของบุคคลนั้นจะยังคงอยู่ จึงไม่แปลกใจที่วันนี้ชื่อของคุณวิชัย ศรีวัฒนประภา  สตีฟ จ็อบส์ หรือบุคคลที่มีชื่อเสียงคนอื่นๆ ที่ล่วงลับไปแล้ว แต่หลายคนจะยังจดจำชื่อของพวกเขาเหล่านั้นตลอดไป