++บิสซิเนสโมเดลในยุคใหม่มีทั้งแนวคิดที่แตกต่าง มองหาสินค้าและพัฒนาสินค้าในแนวใหม่ หรือเป็นสินค้านวัตกรรม สนองกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่มีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และผู้ประกอบการจะต้องออกแบบให้สินค้าตัวเองตอบสนองกับวิถีชีวิตที่มีหลายกลุ่มด้วยกัน ทั้ง “กลุ่มที่สั่งซื้อสินค้าออนไลน์” ในเมืองไทยเองการช้อปปิ้งออนไลน์ในปีที่ผ่านมามีมูลค่าถึง 17,400 ล้านบาท 40 เปอร์เซ็นต์มาจากการซื้อในไทย และอีก40 เปอร์เซ็นต์มาจากการซื้อขายในต่างประเทศ
++ กลุ่มก่อนวัยทีน เป็นคนที่โตมากับอินเทอร์เน็ต กลุ่มนี้จะมากขึ้นเรื่อยๆ ตลาดในปี ค.ศ. 2015 เป็นกลุ่มคนที่ใช้เงินพ่อแม่และมีเงินเก็บ เป็นลูกคนเดียว พ่อแม่ให้ทุกอย่าง เป็นกลุ่มที่สื่อโฆษณาไม่ได้ผลเท่าปากต่อปาก และเพื่อนมาก่อนสื่อ นอกจากนี้ยังมีคนกลุ่มใหม่ๆ ที่เป็นนิชมาร์เก็ตชัดขึ้นเช่น กลุ่มคนรุ่นใหม่ที่เป็นโสด หรือแต่งงานแต่ไม่มีลูก กลุ่มที่เกี่ยวกับการทำงาน กลุ่มทำงานที่ขับรถ กลุ่มคนนั่งรถไฟมีจำนวนมากขึ้น เพราะการเดินทางสะดวกขึ้น ตรงกันข้ามกับกลุ่มของคนที่ทำงานที่บ้าน คนเหล่านี้ต้องการเครื่องใช้ที่สำนักงาน แต่มาทำที่บ้านได้ และไม่ใช้ของราคาแพง
++กลุ่มเพศทางเลือกมีการเปิดตัวมากขึ้น สินค้าที่ออกมาเป็นแนวเสื้อผู้ชายที่หญิงใส่ได้ กลุ่มผู้หญิงอายุ 35 ปีขึ้นไปแต่มีความเป็นอิสระทางการเงิน และชีวิตหันเข้าหาอะไรที่เกี่ยวกับความงาม สิ่งที่เห็นมากขึ้นคือ “พ่อมือใหม่แต่แก่” กลุ่มนี้ทำงานหนักแต่งงานช้า หรือกลุ่มที่แต่งงานครั้งที่2 ตอนแก่กลุ่มของคนมีลูกคนเดียว ไม่อยากให้ลูกเครียดเพราะอยู่คอนโดฯ กลุ่มนี้ก็จะหาเพื่อนมาให้ลูกเล่นหรือมีกิจกรรมที่พาลูกมาพบกัน กลุ่มแต่งงานแล้วแต่ไม่มีลูกมีหมามาเลี้ยง หรือหาอะไรแปลกๆ มาเลี้ยง
++ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ผู้อำนวยการสถาบันองค์ความรู้แห่งเอเชีย (AKI) กล่าวในงานสัมมนาเรื่อง“ครีเอทีฟพาวเวอร์ พลังสร้างสรรค์เอสเอ็มอีไทย” ว่าบรรดาเอสเอ็มอีที่กำลังจะปรับตัวสู่เศรษฐกิจสร้างสรรค์ควรจะมองพฤติกรรมผู้บริโภคในมุมใหม่ รวมทั้งการนำเอาวัฒนธรรมมาผสมผสานก่อนที่จะออกแบบผลิตภัณฑ์มาให้เหมาะสม สินค้าครีเอทีฟในยุคนี้จะแตกต่างจากอดีตที่ผ่านมาตรงที่ไม่ได้ผลิตจำนวนมากเพื่อจำหน่ายให้คนจำนวนมากอีกต่อไปแล้ว แต่สินค้าในยุคนี้เน้นการ “ดีไซน์และสุนทรียภาพ”
++ตัวอย่างเครื่องประดับชุด “UBA-MA-LEE” ทำจาก ‘กระดาษ’ ราคาหลักหมื่น ผลงานไอเดียของ “ศรัณย์ อยู่คงดี” ดีไซเนอร์มืออาชีพที่มีผลงานเป็นที่ยอมรับในวงการภายใต้ชื่อ “SARRAN” พลังแห่งดีไซน์ช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่สินค้าสูงขึ้นจนแทบไม่น่าเชื่อ เครื่องประดับชุดนำเศษกระดาษชนิดพิเศษ คุณสมบัติแข็งแรงทนทานสูง มารังสรรค์เป็นเครื่องประดับชิ้นหรูสำหรับสุภาพสตรี ชูเอกลักษณ์ดอกไม้ไทยร้อย “อุบะ” สไตล์โมเดิร์น แถมมีกลิ่นหอมในตัวเอง ช่วยให้เป็นเครื่องประดับทรงคุณค่าไม่ซ้ำใคร
++คุณศรัณย์เล่าว่า ก่อนหน้านี้ได้ใช้กระดาษดังกล่าวทำเป็นม่านกันแดด ซึ่งในขั้นตอนการผลิตจะมีเศษกระดาษเหลือทิ้งจำนวนมาก จึงเกิดความเสียดายเพราะกระดาษชนิดนี้ราคาค่อนข้างสูงเฉลี่ยตารางเมตรละ 500-1,000 บาท ทำให้คิดอยากจะนำเศษกระดาษมาแปรรูปเป็นสินค้าชนิดอื่น ในที่สุดลงตัวเลือกจะทำเป็นเครื่องประดับ สาเหตุเพราะเป็นสินค้าที่มีมูลค่าต่อหน่วยสูง ขายได้กำไรมาก และเป็นงานชิ้นเล็กๆ สามารถใช้เศษกระดาษทำได้ ปัจจุบันทำออกมาแล้ว 3 ชุด มีกว่า 150 รายการ เช่น สร้อยคอ ต่างหู กำไล ฯลฯ
++ลูกค้าสามารถเลือกได้ทั้งแบบที่มีกลิ่นและไม่มีกลิ่น ราคาขายเริ่มต้นที่ชิ้นละ 3,000 บาท ถึงสูงสุดชิ้นละ 15,000 บาททีเดียวโดยกลุ่มลูกค้าเป้าหมายวางไว้ที่ชาวต่างชาติที่ชื่นชอบงานศิลปะ และชอบสินค้าที่แตกต่างมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง โดยเฉพาะสุภาพสตรีชาวญี่ปุ่นวัย 30 ปีขึ้นไป ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีกำลังซื้อ รักศิลปะและใส่ใจรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ โดยเฉพาะด้านสุขภาพ เนื่องจากเครื่องประดับกระดาษมีน้ำหนักเบา ทำให้ผู้สวมใส่ไม่รู้สึกเมื่อยหรือหนักหากต้องใส่นานๆ
++“เคยมีคนมาถามผมเหมือนกันว่าสินค้าของคุณทำมาจากเศษกระดาษทำไมขายแพงจัง ซึ่งในมุมของผมเชื่อว่างานอัญมณีซื้อขายกันที่ความสวยงาม และเป็นความพึงพอใจระหว่างผู้ซื้อกับผู้ขาย หากเราสามารถทำสินค้าที่สวยถูกใจผู้ซื้อได้ เขาก็พร้อมจะซื้อในราคาที่เราขายได้” นักออกแบบหนุ่มกล่าว
++ อีกหนึ่งตัวอย่าง “เค้กโรล” เพ้นท์ลาย สไตล์เบเกอรี่ญี่ปุ่น จัดหนักแบบไม่ธรรมดาเดือนเดียวได้ยอด Like กว่าครึ่งแสน “ปรางแก้ว บัณฑรรุ่งโรจน์” เจ้าของไอเดีย “เดซาโตะ โรลคาเฟ่” เบเกอรี่ญี่ปุ่นแบบออร์แกนิค บอกว่า ส่วนความพิเศษของเค้กโรลที่เลือกมาเป็นตัวแนะนำก่อนเปิดร้าน คือการเพ้นท์ลวดลายบนเค้กโรลทุกชิ้นด้วยมือล้วนๆ ขายในราคา 650-680 บาท จำหน่ายเค้กโรลตัวนี้ผ่านทาง Social Network อย่าง Facebook เพียงช่องทางเดียว
++เค้กโรล ที่เพ้นท์ลวดลายยังไม่เคยมีใครทำขายมาก่อนในประเทศไทย และก็ไม่ผิดหวังมีคนเข้าไปกด Like เป็นจำนวนเกือบครึ่งแสนเลยทีเดียว สร้างยอดมากถึง 500 ชิ้น สำหรับการเปิดตัวเพียงไม่กี่เดือน
++“เค้กโรลเพ้นท์ลวดลายที่ประเทศญี่ปุ่น มีทำขายกันมาสักระยะหนึ่ง แต่ก็ไม่ได้รับความนิยมมากนัก จะมีขายเฉพาะในเมืองใหญ่ อย่างโตเกียวหรือโอซาก้า และมีการทำกันอยู่ไม่กี่ร้าน เพราะขั้นตอนการเพนท์ลายค่อนข้างยาก คนญี่ปุ่นก็เลยไม่นิยมทำขายกันมากนัก แต่ร้านที่ทำก็ได้รับความนิยมจากลูกค้าเช่นกัน ในส่วนของเราเองตั้งใจว่าจะทำขาย และเป็นหนึ่งในเมนูแนะนำของร้าน เดซาโตะ” สาวนักเพ้นท์เค้กกล่าว
++ ความแปลกใหม่ของสินค้าในบางธุรกิจอาจจะไม่ได้ผลที่ชัดเจนหรือสัมฤทธิผลได้อย่างรวดเร็ว ตรงนี้ผู้ประกอบการจะต้องใช้เวลาอดทนในการพัฒนาสินค้าอีกด้วย