แนะ ทางแก้พฤติกรรม ที่ทำให้ SME ตกม้าตาย ก่อนไปถึงฝัน


ทีเอ็มบี เผยผลการศึกษาวิจัยพฤติกรรมการทำธุรกิจของ SME ที่ส่วนใหญ่ยังต้องพัฒนาเรื่องวินัย ทั้งบางส่วนยังคงทำธุรกิจแบบไร้ทายาทสืบทอด แนะ แยกกระเป๋าเงินธุรกิจกับกระเป๋าเงินส่วนตัว ทุ่มเวลาให้การทำมาร์เก็ตติ้ง มีแผนธุรกิจกำกับทิศทาง และสรรหาบุคลากรเพื่อสร้างรากฐาน

วานนี้ (13 พ.ย. 61) นางสาวชมภูนุช ปฐมพร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าเอสเอ็มอี ทีเอ็มบี เผยว่า ทีเอ็มบี ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมลูกค้ากลุ่ม SMEs อย่างลึกซึ้ง เพื่อเป็นแนวทางในการให้คำปรึกษา และสนับสนุนให้ลูกค้าสามารถเติบโต ‘ได้มากกว่า’ (Get MORE with TMB) อย่างยั่งยืน ทั้ง ข้อมูลจาก สสว. ยังชี้ว่า ช่วง 5 ปีที่ผ่านมา มีธุรกิจเกิดใหม่กว่า 70,000 รายต่อปี แต่มีเพียง 50% ที่ก้าวผ่านปีแรกไปได้ และเมื่อผ่านปีแรกไปได้จะมีธุรกิจอีกราว 10% ที่ไปไม่ถึงฝัน และต้องปิดตัวไป

จากการสำรวจผู้ประกอบการไทยทั่วประเทศ ที่มีรายได้เฉลี่ยอยู่ระหว่าง 1-50 ล้านบาทต่อปี แบบคละประเภทธุรกิจ จำนวน 200 คน แบ่งวงจรชีวิตเป็น 3 ช่วงสำคัญ คือ ช่วงเริ่มต้น (Start) ช่วงพัฒนา (Growth) และช่วงอิ่มตัว (Mature) ได้บทสรุป ‘7 หลุมพรางของ SMEs ที่ทำให้ธุรกิจไม่ไปถึงฝั่งฝัน’ ที่สะท้อนพฤติกรรมการทำธุรกิจของคนไทยในปัจจุบัน ดังนี้

1. ใช้เงินทุนโดยไม่วางแผน โดย 84% ของ SMEs ใช้เงินเก็บส่วนตัวหรือของครอบครัวมาใช้เป็นเงินตั้งต้นธุรกิจ หากธุรกิจผิดพลาด ตนเองและครอบครัวย่อมจะได้รับผลกระทบทันที ที่น่าสนใจคือ SMEs ราว 27% เลือกใช้เงินทุนตั้งต้นธุรกิจจากการใช้บริการสินเชื่อและการกดเงินสดจากบัตรเครดิต โดยยอมแบกรับกับอัตราดอกเบี้ยที่สูงเกินความคุ้มค่าระหว่างดอกเบี้ยกับกำไรของธุรกิจ

แนะนำ: เลือกเงินทุนและจัดสัดส่วนเงินลงทุนอย่างเหมาะสม และคำนึงถึงความเสี่ยง

2. ทำธุรกิจโดยไม่ใช้แผนธุรกิจ การวางแผนธุรกิจเป็นสิ่งที่จะทำให้ SMEs เติบโตอย่างยั่งยืน แต่ SMEs มากถึง 72% ยอมรับว่าถึงจะมีแผนธุรกิจหรือไม่มีก็ตาม ก็ไม่เคยทำตามแผน เนื่องจากหมดเวลาไปกับการแก้ปัญหารายวัน และปัญหาเฉพาะหน้า

แนะนำ: วางแผนธุรกิจคร่าวๆ ด้วยตนเอง

3. ไม่แยกกระเป๋าธุรกิจ และกระเป๋าส่วนตัว SMEs กว่า 67% มีพฤติกรรมการใช้ ‘เงินธุรกิจ’ กับ ‘เงินส่วนตัว’ ปนกัน เช่น ให้คู่ค้าโอนเงินเข้าบัญชีส่วนตัวโดยจำไม่ได้ว่าเงินของส่วนตัวมีอยู่เท่าไร ไม่เคยตั้งเงินเดือนให้ตัวเอง เมื่อต้องการใช้เงินส่วนตัวหรือครอบครัว มักจะเอาเงินได้จากบริษัทออกมาจ่าย และหยิบเงินสดจากเครื่องเก็บเงินหรือลิ้นชักออกมาจับจ่ายส่วนตัว โดยไม่ได้จดค่าใช้จ่ายไว้ ซึ่งเป็นผลเสียต่อการทำธุรกิจในระยะยาว

แนะนำ: แยกกระเป๋าธุรกิจออกให้เป็นสัดส่วน หรือทำบัญชีรายรับรายจ่ายให้เห็นเงินเข้าออกอย่างชัดเจน

4. ยอดขายสูง…แต่อาจไม่กำไร การทราบต้นทุนที่ถูกต้องและครบถ้วน เป็นเครื่องการันตีกำไรของธุรกิจ แต่ 37% ของ SMEs เคยมีพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการขาดทุน เช่น 14% ลดราคาโดยไม่ได้มองถึงต้นทุน, 14% ลืมใส่เงินเดือนตัวเองลงไปในต้นทุนสินค้า และ 9% คิดเพียงว่าแค่ขายสินค้าให้มากกว่าราคาวัตถุดิบ ก็เท่ากับได้กำไร

แนะนำ: คิดต้นทุนให้ครบ

5. ทุ่มเวลากับการผลิต จนไม่มีเวลาให้การตลาด การดำเนินธุรกิจของ SMEs แบ่งเป็น 4 ส่วนงาน คือ

  • กระบวนการผลิต ได้แก่ การจัดหาวัตถุดิบ การบริหารสต็อคสินค้า การสรรหาเทคโนโลยีใหม่ๆ มาเสริมทัพ การผลิตและการบรรจุ
  • งานสำนักงาน ได้แก่ การทำบัญชี การเงินและภาษี การวิเคราะห์ยอดรายรับ-รายจ่าย การบริหารพนักงานและสวัสดิการ การทำเอกสารซื้อ-ขาย
  • การขาย การเฝ้าหน้าร้าน การพบปะลูกค้าและการขายสินค้า
  • การตลาด ได้แก่ การตลาดและการสร้างแบรนด์ ทั้งนี้ พบว่า SMEs ถึง 87% ไม่มีเวลาให้กับการตลาด ทำให้พลาดในการสร้างจุดเด่นหรือสร้างความแตกต่างจากคู่แข่ง

แนะนำ: หาเครื่องทุ่นแรงหรือคนมาช่วยดูแลธุรกิจ

6. ONE MAN SHOW…NO Stand-in น่าตกใจว่า 70% ของ SMEs ไทย ไม่สามารถหาบุคคลที่จะมาเป็น ‘ตัวตายตัวแทน’ ที่จะตัดสินใจทางธุรกิจแทนได้ ขณะที่ 49% ยอมรับว่า ธุรกิจจะสะดุดทันที เมื่อตนเองไม่อยู่หรือขายสินค้าเอง ส่งผลให้ยอดขายลดลง ออเดอร์หรือฐานลูกค้าหายไป

แนะนำ: เริ่มคัดเลือก หรือพัฒนาบุคลากร เพื่อวางรากฐานให้มั่นคง

7. ไม่พร้อมรับมือกับสิ่งใหม่ จากข้อมูลพบว่ามี SMEs ถึง 62% ที่ขยันสรรหาสิ่งใหม่ มาพัฒนาธุรกิจเสมอ ขณะที่อีก 38% ยังไม่พร้อมเปิดรับสิ่งใหม่ เหตุผลส่วนใหญ่คือ 19% เกรงว่าจะมีปัญหาในช่วงเริ่มต้นสิ่งใหม่ 14% ไม่เปิดรับหรือไม่มีเวลาหาข้อมูล และ 5% มองว่าธุรกิจที่ทำดีอยู่แล้ว จึงไม่สนใจที่จะเปลี่ยน

แนะนำ: หาความรู้เพื่อต่อยอดธุรกิจ ด้วยการเดินงานแฟร์ คุยกับที่ปรึกษา ร่วมงานสัมมนา หรือ SMEs Community ต่างๆ เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เป็นแนวทางทำให้ SMEs สามารถสร้างความแตกต่าง ได้อย่างยั่งยืน