ผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SMEs ที่เป็นผู้ส่งออกและนำเข้าหลายราย คงประสบปัญหาจากอัตราแลกเปลี่ยนให้น่าปวดใจ เนื่องจากในช่วง 1-2 ปีหลัง จนถึงปัจจุบันมักจะเจอกับอัตราแลกเปลี่ยนหรือค่าเงินบาทที่ผันผวน เรียกได้ว่าไม่รู้ช่วงไหนจะแข็งช่วงไหนจะอ่อนค่ากันแน่
ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs บางรายต้องกุมขมับกับรายได้ที่ลดน้อยลงกว่าเดิม หรือถ้าผู้ประกอบการ SMEs รายใดคำนวณต้นทุนไม่ดีล่ะก็อาจไม่ได้กำไรเลยก็มี
การทำประกันความเสี่ยงจากค่าเงิน เป็นอีกหนึ่งทางออกให้ผู้ส่งออกที่เป็น SMEs ได้ดี เพราะสามารถเลือกเวลาล็อคค่าเงิน หรือซื้อเงินสกุลต่างประเทศได้ล่วงหน้า ทำให้ผู้ประกอบการ SMEs สามารถบริหารต้นทุนของธุรกิจได้คล่องตัวมากขึ้น
เรื่องนี้ทางกระทรวงการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และสถาบันการเงิน ต่างเห็นความเดือดร้อนของผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นผู้ส่งออกและนำเข้า เพราะถือว่ากลุ่มธุรกิจนี้เป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ
โดยได้เกิดโครงการบริหารความเสี่ยงผ่านเครื่องมือประกันค่าเงิน FX option ซึ่ง ธปท. ร่วมกับสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิมแบงก์) สมาคมธนาคารไทย และธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารซีไอเอ็มบีไทย ธนาคารทหารไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ และธนาคารยูโอบี
แต่ที่ผ่านมายังมีผู้ประกอบการ SMEs ทำประกันความเสี่ยงอยู่น้อย และบางรายอาจยังไม่เข้าใจ ทำให้ในเร็วๆ นี้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องจะปรับปรุงแรงจูงใจในโครงการบริหารความเสี่ยง FX option เป็นระยะที่ 2 มีการเพิ่มวงเงินค่าธรรมเนียมซึ่งเป็นคูปองจาก 30,000 บาทต่อกิจการ เป็น 50,000 บาทต่อกิจการ เพื่อใช้เป็นส่วนลดในการจ่ายทำประกันค่าเงิน
เพียงมีคุณสมบัติ
– เป็นเจ้าของกิจการหรือผู้บริหาร หรือเจ้าหน้าที่ด้านการเงิน
– มีกิจการที่เป็นสมาชิก สสว.
– เป็นผู้ส่งออกหรือนำเข้า ที่มีรายได้ในปี 2559 หรือ 2560 ไม่เกิน 400 ล้านบาท
ขณะเดียวกันยังได้รับส่วนลด 50% ในการทำประกันการส่งออกกับเอ็กซิมแบงก์ โดยคุณสมบัติของผู้ประกอบการ SMEs ที่เข้าร่วมต้องเป็นสมาชิกของ สสว. แต่มีเงื่อนไขต้องเข้าร่วมอบรมและสามารถเข้าอบรมผ่านช่องทางออนไลน์ได้ เพื่อเพิ่มความสะดวกให้แก่ผู้ประกอบการ SMEs โดยมีระยะเวลาโครงการตั้งแต่ 21 พ.ย.61-29 พ.ย.62 ฟรีไม่มีค่าใช้จ่าย
นอกจากเครื่องมือประกันความเสี่ยงจากค่าเงินอย่าง FX option แล้ว ผู้ประกอบการ SMEs ที่เป็นผู้ส่งออกและนำเข้ายังสามารถเลือกเครื่องมืออื่นๆได้ตามใจชอบ โดยสามารถติดต่อขอข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เอ็กซิมแบงก์ และธนาคารพาณิชย์ 8 แห่ง
ตัวอย่างเช่น
– การซื้อหรือขายเงินสกุลต่างประเทศล่วงหน้า (Forward Contract) คือสัญญาซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า โดยมีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่เอาไว้ล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ทำสัญญา ทำให้เมื่อครบกำหนดสัญญา ไม่ว่าในช่วงนั้นอัตราแลกเปลี่ยนจะอยู่ที่เท่าไหร่ ผู้ส่งออกหรือนำเข้าก็ไม่ต้องกังวัลว่าค่าเงินบาทต่อเงินสกุลต่างประเทศอื่นจะเป็นอย่างไร
– การซื้อสิทธิ์ที่จะซื้อหรือขายเงินสกุลต่างประเทศล่วงหน้า (Option Contract) คือสัญญาที่ธนาคารให้สิทธิ์ธุรกิจในการซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า โดยมีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่เอาไว้ล่วงหน้าตั้งแต่วันที่ทำสัญญาเหมือนกับ Forward Contract แต่ต่างกันตรงที่ เมื่อถึงกำหนดสัญญา ผู้ประกอบการ SMEs สามารถเลือกได้ว่าจะใช้สิทธิ์อัตราแลกเปลี่ยนตามสัญญาหรือไม่ ซึ่งระหว่างสัญญา ยังสามารถเลือกไม่ใช้สิทธิ์ได้ หากอัตราแลกเปลี่ยนช่วงนั้นดีกว่า
– การฝากเงินตราต่างประเทศไว้ในประเทศไทย (Foreign Currency Deposit : FCD) คือการเปิดบัญชีเพื่อฝากเงินเป็นสกุลเงินต่างประเทศ แทนที่จะนำเงินตราต่างประเทศเข้ามาแล้วรีบแลกกลับมาเป็นเงินบาททันที ซึ่งอาจทำให้ขาดทุนอัตราแลกเปลี่ยนได้ โดยสามารถฝากเงินต่างประเทศไว้ก่อน เมื่อทิศทางค่าเงินเป็นไปในทางที่ได้เปรียบก็ค่อยถอนออกมาเป็นเงินบาท
ทั้งหมดล้วนเป็นเครื่องมือลดความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน โดยหวังว่าผู้ประกอบการ SMEs ที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับส่งออกและนำเข้า จะตื่นตัว รับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกในปัจจุบัน โดยเฉพาะเศรษฐกิจและการค้าโลก มักมีสิ่งที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา นอกเหนือจากภัยธรรมชาติ เช่น นโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐฯที่ยังยืดเยื้อกว่าที่คาดไว้ ซึ่งอาจกระทบต่อธุรกิจได้หากค่าเงินผันผวนรุนแรง ฉะนั้นอย่าชะล่าใจให้กับสิ่งที่มองไม่เห็น แต่ควรรู้จักป้องกัน ก่อนไม่ทันกาล