มีกระแสข่าวออกมาอย่างต่อเนื่องไม่หยุดไม่หย่อน สำหรับการ “ปลดฟ้าผ่า” ของบรรดาแบรนด์ดัง ทั้งไซส์เล็ก ไซส์ใหญ่ ที่หวัง “รอดตาย” ในสถานการณ์ขณะนี้
แน่นอนว่า ข่าว มีทั้งจริงบ้าง ไม่จริงบ้าง หรือจริงบางส่วนบ้าง แต่การที่มนุษย์เงินเดือน ทำงานทำการมั่นคง ที่เคยทำงานในองค์กรใหญ่ ใครๆ ก็ต่างคิดว่า ทั้งเงินเดือน หรือสวัสดิการที่เคยได้ น่าจะอยู่สบายๆ ไปอีกนาน ในยุคนี้ ไม่มีอะไรแน่นอนเสมอไป…..วันดีคืนดี เช้ามาอาจจะมีข่าวใหญ่ เลฟ์ออฟ ปลด ลด ปรับโครงสร้างออกมาให้หนาวๆ ร้อนๆ ได้แบบไม่ทันตั้งตัว
วันนี้ Smart SME รวมเอาข่าวร้ายของใครหลายๆ คน กับการ “ปลดพนักงาน “ ที่สร้างความประหลาดใจ ไปพร้อมๆ สั่นสะเทือนวงการการตลาดบ้านเรา เปลี่ยน “คนเคยมีงาน” ให้กลายเป็นนักวิจัยฝุ่น ในระยะเวลาชั่วข้ามคืน มาดูกันว่าแบรนด์ไหนยอมตัดใจหั่นชิ้นเนื้อ เพื่อให้ได้ “ไปต่อ”และอยู่รอดท่ามกลางวิกฤติเศรษฐกิจ 4.0
เทสโก้ โลตัส จ้างพนักงานออก ปรับโครงสร้างธุรกิจ ยันปลดฟ้าผ่า-ลดสาขา ไม่จริง
(29 ตุลาคม 2561) หลังจากมีกระแสข่าวแชร์ต่อกันอย่างแพร่หลายในโลกออนไลน์ออกมาว่า เทสโก้ โลตัส เตรียมปลดพนักงานถึง 45,000 คน พร้อมปิดสาขาอีก 43 สาขาทั่วประเทศ ล่าสุด เทสโก้ โลตัส แจงข่าวนี้ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด เพียงยกเลิกบางตำแหน่งเพื่อให้สอดคล้องกับธุรกิจเท่านั้น ยันเนื้อหาข่าวดังกล่าวเป็นเรื่องเก่าปี 2558
โดยฝ่ายสื่อสารองค์กรของเทสโก้ โลตัส ออกมาชี้แจงในประเด็นนี้ว่า เทสโก้ โลตัส ให้บริการลูกค้าในประเทศไทยมายาวนานกว่า 24 ปี โดยมุ่งมั่นที่จะมอบสินค้าคุณภาพสูงในราคาที่เอื้อมถึง ควบคู่ไปกับการสนับสนุนทางเศรษฐกิจสังคม และชุมชนไทยมาโดยตลอด อย่างไรก็ตาม เมื่อเร็วๆ นี้ บริษัทฯ ได้มีการปรับรูปแบบการดำเนินธุรกิจ เพื่อตอบรับความต้องการของลูกค้าที่มีความเปลี่ยนแปลงไปได้ดียิ่งขึ้น และเพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ดังนั้น จึงต้องมีการปรับโครงสร้างให้สอดคล้องกับธุรกิจ มุ่งเน้นไปที่ส่วนงานที่สำคัญสำหรับลูกค้าที่เป็นกลุ่มเป้าหมายของเรา โดยโครงสร้างทีมใหม่นี้จะลดขั้นตอน เพื่อให้การทำงานของพนักงานมีความง่ายขึ้น
อ่านข่าว : เทสโก้ โลตัส จ้างพนักงานออก
สตาร์บัคส์ เตรียมปลดพนักงานครั้งใหญ่ และปิดเพิ่ม 150 สาขา
(26 กันยายน 2561) สำนักข่าว CNBC รายงานว่า สตาร์บัคส์ ธุรกิจร้านกาแฟระดับโลก เตรียมปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่ ตั้งแต่สัปดาห์นี้ไปจนถึงเดือนพฤศจิกายน 2561
เควิน จอห์นสัน CEO สตาร์บัคส์ ได้ส่งบันทึกภายในองค์กรให้กับพนักงาน มีเนื้อหาว่า เราต้องเพิ่มความรวดเร็วในการพัฒนานวัตกรรมใหม่ที่เกี่ยวข้องกับลูกค้าและคู่ค้า ซึ่งการจะทำให้แผนสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่นี้สำเร็จ เราต้องสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ เพื่อให้สตาร์บัคส์ ยังคงความเป็นผู้นำ โดยขณะนี้เหล่าผู้บริหารได้ร่วมทำงานกับบุคลากรระดับหัวหน้างานอย่างใกล้ชิด เพื่อสร้างนวัตกรรมใหม่ ภายใต้การทำธุรกิจค้าปลีกที่เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งแผนปรับโครงสร้างองค์กรครั้งนี้ จะรวมไปถึงการควบรวมบางตำแหน่งงานเข้าด้วยกัน การโยกย้ายขยับปรับเปลี่ยน และการปลดพนักงานบางส่วนที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับด้านการขาย การให้บริการ ในปี 2562 สตาร์บัคส์จะเพิ่มความระวังในการขยายธุรกิจมากขึ้น จากแผนเดิมที่จะปิดสาขายอดขายต่ำ เฉลี่ย 50 สาขา แต่ปีหน้าจะปรับเพิ่มเป็น 150 สาขา รวมไปถึงลดการเปิดสาขาใหม่ด้วย
อ่านข่าว : สตาร์บัคส์ เตรียมปลดพนักงานครั้งใหญ่
อิเกีย เตรียมย่อไซส์ร้าน และเลย์ออฟ 7,500 ตำแหน่งงาน
(22 พฤศจิกายน 2561) สำนักข่าว ซีเอ็นเอ็น รายงานว่า บริษัท อิเกีย กรุ๊ป ผู้ค้าปลีกเฟอร์นิเจอร์รายใหญ่ที่สุดในโลก มีแผนที่จะปลดพนักงานราว 5% หรือ 7,500 ตำแหน่ง ในอีก 2 ปีข้างหน้า พร้อมขยับไซส์ร้านให้เล็กลงเพื่อเข้าถึงลูกค้าในเมือง รวมถึงผู้ที่ไม่ต้องการซื้อสินค้าในคลังสินค้าขนาดใหญ่ และเพิ่มการขายผ่านอีคอมเมิร์ชมากขึ้น
เจสเปอร์ โบรดิน ผู้บริหาร อิเกีย กล่าวว่า “เราตระหนักดี ถึงทิศทางการเปลี่ยนแปลงของธุรกิจค้าปลีกในระดับที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เนื่องจากพฤติกรรมของลูกค้าเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว เราจึงได้ลงทุนและพัฒนาธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้าในรูปแบบที่ดีและใหม่กว่า
อย่างไรก็ตาม แม้อิเกียจะปลดพนักงานจำนวนมาก แต่ในขณะเดียวกันการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งนี้ ก็จะนำไปสู่การสร้างงานกว่า 11,500 ตำแหน่ง จากจำนวนสาขาขนาดเล็กที่จะเปิดใหม่ราว 30 แห่งทั่วโลก
อ่านข่าว :อิเกีย เตรียมย่อไซส์ร้าน และเลย์ออฟ
“จีเอ็ม” ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่ปลดพนักงาน 14,000 ตำแหน่ง หลังยอดขายชะลอตัว
บริษัทเจเนอรัล มอเตอร์ส (จีเอ็ม) ผู้ผลิตรถยนต์ยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ ไม่ว่าจะเป็น เชฟโรเล็ต, คาดิแลค ตัดสินใจเลิกจ้างพนักงานจำนวน 14,000 ตำแหน่ง ในภูมิภาคอเมริกาเหนือ พร้อมระงับการผลิตโรงงาน 5 แห่ง โดยบริษัทปรับแผนโครงสร้างมุ่งเน้นเจาะกลุ่มไปที่รถยนต์พลังงานไฟฟ้าเป็นหลักแทน
การเลิกจ้างพนักงานของ “จีเอ็ม” ในครั้งนี้ คิดเป็นร้อยละ 8 ของพนักงานทั้งหมด ที่มีรวมกัน 180,000 คน โดยการปรับโครงสร้างดังกล่าวสะท้อนให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของตลาดรถยนต์ในทวีปอเมริกาเหนือที่ผู้ผลิตรถยนต์ปรับเปลี่ยนการผลิตไปสู่รถยนต์ทั่วไปสู่รถยนต์ SUVs และรถบรรทุก สอดคล้องกับสถิติในเดือนตุลาคมที่ระบุว่ายานพาหนะร้อยละ 65 ที่จำหน่ายในสหรัฐฯ คือรถยนต์ SUVs และรถบรรทุก ซึ่ง “จีเอ็ม” กำลังมองหาโอกาสในตลาดนี้ หลังจากปัจจุบันรถยนต์ที่พวกเขาผลิตอยู่ไม่สามารถทำเงินได้ตามเป้าหมายเท่าที่ควร การตัดสินใจของ “จีเอ็ม” สร้างความสั่นสะเทือนให้กับวงการการเมืองเลยที่เดียว
อ่านข่าว : การเลิกจ้างพนักงานของ “จีเอ็ม”
วิกฤติช่องทีวี? ช่อง 3 เลิกจ้างพนักงานเกือบ 100 คน
(3 ธ.ค.) เกิดกระแสข่าวช่อง 3 เลิกจ้างพนักงานเกือบ 100 คน โดยได้เรียกประชุมเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา และในเช้าวันจันทร์ ได้มีการให้เซ็นใบลาออกพร้อมกับจ่ายเงินค่าชดเชย 10 เดือนและค่าตกใจ 2 เดือน โดยระบุว่าเป็นคนในแผนกข่าวประมาณ 80 คน ซึ่งล่าสุดในช่วงเย็นวันเดียวกันหลังกระแสข่าวร้อนดังกล่าว ช่อง 3 ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงโดยระบุว่า เป็นเพียง โครงการเกษียณอายุ ที่ถือเป็นทางเลือกให้กับพนักงานกลุ่มนี้ ซึ่งจำนวนผลตอบแทนที่มอบให้ในโครงการเกษียณก็สูงกว่าสิ่งที่กฎหมายแรงงานได้กำหนดไว้ พร้อมทั้งยังมีการมอบประกันสุขภาพให้พนักงานที่เข้าโครงการต่อไป เพื่อให้พนักงานยังสามารถมีประกันสุขภาพดูแลตนเองต่อไปแม้จะเกษียณอายุไปแล้ว เท่านั้น ส่วนที่ระบุว่ามีการปลดพนักงานอายุระหว่าง 40-55 ปีนั้นก็ไม่เป็นความจริง เพราะที่จริงแล้วพนักงานในวัยนี้ถือเป็นกำลังสำคัญต่อการผลิตผลงานคุณภาพของไทยทีวีสีช่อง 3
อ่านข่าว : ช่อง 3 เลิกจ้างพนักงานเกือบ 100 คน
หนังสือพิมพ์ระดับตำนานอย่างโพสต์ทูเดย์ และ M2F มีอันต้องปิดตัวลงในเดือนมีนาคมนี้
(21 ก.พ.)
ช็อควงการสื่อสิ่งพิมพ์กันอีกครั้ง เมื่อหนังสือพิมพ์ระดับตำนานอย่างโพสต์ทูเดย์ รวมไปถึงหนังสือพิมพ์แจกฟรีตามป้ายรถเมล์อย่าง M2F มีอันต้องปิดตัวลงในเดือนมีนาคมนี้ แต่ยังคงเหลือหนังสือพิมพ์ “บางกอกโพสต์” ไว้ฉบับเดียว
ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท บางกอก โพสต์ จำกัด (มหาชน) หรือ POST ได้มีมติตัดสินใจที่สำคัญนั้นก็คือการตัดสินใจ ปิดหนังสือพิมพ์รายวันโพสต์ทูเดย์ และหนังสือพิมพ์แทบลอยด์ M2F ภายในเดือน มี.ค. แต่ในส่วนโพสต์ทูเดย์ดิจิทัล (ออนไลน์) ยังคงเปิดดำเนินการตามปกติ ทั้งนี้บริษัทจะทำการชดเชยต่อพนักงานตามกฎหมายต่อไป โดยจะคัดเลือกพนักงานในกองบรรณาธิการไว้เหลือเพียง 20 คน เพื่อทำสื่อดิจิตอล ร่วมกับทีมดิจิตอลเดิมของโพสต์ทูเดย์ ส่วนหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ทั้งสื่อรูปแบบหนังสือพิมพ์และดิจิทัล จะยังคงตีพิมพ์ต่อไปในฐานะที่เป็นสื่อหลักของบริษัท
อ่านข่าว : ไปอีกราย! นสพ.โพสต์ทูเดย์-M2F ปิด มี.ค. นี้