13 ธันวาคม 2561 – บริษัท อินเตอร์เนชั่นแนล เมอร์แชนไดส์ เอ็กเชนจ์ แอนด์ เอกซิบิชั่น จำกัด (International Merchandise Exchange & Exhibition) หรือ IMX ซึ่งเป็นบริษัทในเครือกลุ่มธุรกิจยักษ์ใหญ่จากจีน “คิง ไว กรุ๊ป” (King Wai Group) ก่อตั้งโดยดร.คิง ไว ชาน ได้ลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนงกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เพื่อร่วมกันนำเอสเอ็มอีไทยกว่า 48,000 รายบุกตลาดจีนเจาะถึงตัวผู้บริโภคกว่า 1 พันล้านคนผ่านแพลตฟอร์มการค้าไร้พรมแดน (cross-border e-commerce and supply chain platform) ของคิง ไว กรุ๊ป
ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ตามหนังสือแสดงเจตจำนง (Letter of Intent) ครั้งนี้ จะช่วยให้เอสเอ็มอีไทยสามารถนำสินค้าไปขายผ่านนวัตกรรมโซลูชั่นการค้าระหว่างประเทศที่ IMX ได้นำเอารูปแบบการค้าข้ามพรมแดนครบวงจรที่ประกอบด้วย คลังสินค้า อาคารจัดแสดงสินค้า การบริการที่ท่าเรือ การจัดการพิธีการศุลกากร ช่องทางการขายสินค้าทั้งออนไลน์ผ่านเว็บไซต์ kjt.com และออฟไลน์มารวมไว้ในที่เดียวเพื่อความสะดวก โดยบริษัทฯ มีศูนย์ แสดงและจำหน่ายสินค้าในเมืองใหญ่ทั่วประเทศจีน ได้แก่ เทียนจิน เซี่ยงไฮ้ เสินเจิ้น และเฉิงตู ทั้งนี้ รัฐบาลเมืองเซี่ยงไฮ้ได้ให้การรับรองศูนย์แสดงสินค้าของบริษัทฯในเมืองเซี่ยงไฮ้ ในฐานะเป็นศูนย์แสดงและจำหน่ายสินค้าถาวรที่ครบวงจรและเปิดบริการทุกวัน และด้วยนโยบายส่งเสริมการทำการค้าข้ามพรมแดน รัฐบาลจีนได้ให้การรับรองว่า kjt.com เป็นแพลตฟอร์มการค้าข้ามพรมแดนแบบอีคอมเมิร์ซสำหรับเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้เช่นกัน
แพลตฟอร์มการค้าข้ามพรมแดนที่ครบวงจรของบริษัท IMX ทั้งในรูปอาคารแสดงสินค้าและการค้าออนไลน์ KJT.com ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มชั้นนำและถือเป็นอีคอมเมิร์ซรายแรกของจีน จะเปิดโอกาสให้สินค้าคุณภาพจากไทยสามารถเข้าถึงประชากรกว่าหนึ่งพันล้านคนทั่วประเทศจีนได้ภายในเวลาเพียง 2 ชั่วโมงเท่านั้น
นายเฮนรี ชาน รองประธานกรรมการ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท คิง ไว กรุ๊ป และประธานบริษัท IMX กล่าวว่า “คิง ไว กรุ๊ป ดำเนินธุรกิจตามวิสัยทัศน์ “Responsibility creates value, mission inspires people” เราจึงให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์โซลูชั่นต่างๆ ที่จะช่วยให้ผู้บริโภคหรือเจ้าของธุรกิจ สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ธุรกิจในประเทศที่เราเปิดดำเนินการอยู่ รวมถึงประเทศไทย”
ทั้งนี้ หลังจากประเทศจีนได้จัดงานมหกรรมสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ (China International Import Export Expo – CIIE) ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา รัฐบาลจีนได้เปิดตลาดรองรับสินค้านำเข้าจากต่างประเทศมากขึ้น รวมถึงกำหนดนโยบายและมาตรการทางภาษีที่เอื้อต่อการนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศ รวมทั้งนโยบายส่งเสริมการค้าข้ามพรมแดน เช่น การลดประเภทกิจการต้องห้ามในพื้นที่เขตทดลองการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ และการส่งเสริมการทำอี-คอมเมิร์ซ โดยปรับเพดานการซื้อสินค้าจากช่องทางออนไลน์จากเดิม 2,000 หยวนต่อครั้ง เป็น 5,000 หยวนต่อครั้ง
ในงานนี้ศูนย์การแสดงและจำหน่ายสินค้า IMX ของบริษัทฯ ได้รับการยอมรับและรับรองจากภาครัฐในฐานะอาคารจัดแสดงสินค้าที่ได้สิทธิ์นิทรรศการถาวร 6+365 สามารถจัดแสดงสินค้าต่อเนื่องจากงาน CIIE และยังเป็นศูนย์บริการชาวต่างชาติในพื้นที่ทดลองเขตการค้าเสรีเซี่ยงไฮ้ (Foreigners Service Point of the Shanghai Pilot Free Trade Zone) การยอมรับนี้สะท้อนให้เห็นว่า IMX เป็นแพลตฟอร์มการค้าไร้พรมแดนที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผล สามารถช่วยให้ผู้ค้าและผู้ผลิตสินค้าคุณภาพสามารถเข้าถึงตลาดที่มีขนาดใหญ่มาก และได้รับประโยชน์จากนโยบายทางการค้าของจีนได้อย่างเต็มที่
“จากการที่รัฐบาลจีนได้ประกาศนโยบาย Belt & Road Initiative (BRI) และผ่อนปรนกฎระเบียบด้านการนำเข้ามากมาย ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง จึงประกาศการคาดการณ์ว่าในอีก 15 ปีข้างหน้า จีนจะนำเข้าสินค้าจากต่างประเทศรวมมูลค่าราว 30 ล้านล้านดอลล่าร์ (30 trillion) ทำให้เราเชื่อมั่นว่าโอกาสทางการค้าของธุรกิจไทยในตลาดจีนนั้นมีอยู่มหาศาล” นายเฮนรี่กล่าว
นอกจากนี้ นายเฮนรี่ยังกล่าวเสริมว่า สินค้าไทย เป็นที่ยอมรับและได้รับความนิยมเป็นอย่างมากในประเทศจีน “เพราะสินค้าไทยมีคุณภาพสูง เมื่อผนวกจุดแข็งในด้านนี้ เข้ากับแพลตฟอร์มการค้าข้ามพรมแดนและ
อีคอมเมิร์ซที่ครบวงจรของเรา ตลอดจนนโยบายและมาตรการทางภาษีและการค้าของจีนที่ปรับปรุงใหม่ ผลลัพธ์ที่มีต่อเศรษฐกิจที่เราจะเห็นคือ การขับเคลื่อนการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยนวัตกรรม พัฒนาสู่
ไทยแลนด์ 4.0 ผลักดันให้ GDP ของไทยขยายตัว โดยเฉพาะโครงการ IMX ที่เราคิดว่า จะช่วยเร่งอัตราการส่งออกของไทยด้วย ในโอกาสนี้ เราขอขอบคุณกระทรวงพาณิชย์ของไทย ที่ได้ร่วมมือกับเราสร้างประโยชน์ต่อผู้ประกอบการธุรกิจและเศรษฐกิจโดยรวมของไทยและจีน”
ตามกรอบของหนังสือแสดงเจตจำนงดังกล่าว คิง ไว กรุ๊ป จะนำสินค้าคุณภาพสูงที่ได้รับเครื่องหมายรับรอง Thailand Trust Mark จากรัฐบาลไทย ไปจำหน่ายในประเทศจีน โดยมีกระทรวงพาณิชย์ของไทยเป็นผู้ให้คำแนะนำและช่วยเหลือในการประสานงานและอำนวยความสะดวก
การนำสินค้าไทยไปจำหน่ายผ่านช่องทางต่างๆ ของ IMX โดยเฉพาะช่องทางออนไลน์ จะเป็นประโยชน์ต่อ SME ของไทยมาก เพราะเป็นช่องทางที่ได้รับความนิยมเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในอัตราสูง เนื่องจากประเทศไทยติดอันดับ 2 ของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีระบบเศรษฐกิจที่อาศัยอินเทอร์เน็ตเป็นตัวขับเคลื่อน (Internet Economy) โดยในปี 2561 มูลค่ากิจกรรมทางธุรกิจและเศรษฐกิจที่อาศัยอินเทอร์เน็ตเป็นตัวขับเคลื่อนในประเทศไทยมีมูลค่าสูงถึง 12,000 ล้านดอลล่าร์สหรัฐหรือประมาณ 394,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับ 72,000 ล้านดอลล่าร์ของทั้งภูมิภาค ซึ่งในปัจจุบัน กิจกรรมทางธุรกิจและเศรษฐกิจที่อาศัยอินเทอร์เน็ตเป็นตัวขับเคลื่อนคิดเป็นมูลค่า 2.7% ของรายได้ประชาชาติ (GDP) ทั้งหมดของประเทศไทย
นอกจากนี้ IMX ยังจะนำโซลูชั่น FTAX มาใช้ในประเทศไทยเพื่อช่วยให้นักธุรกิจ เจ้าของสินค้า และผู้ซื้อ ได้รับข้อมูลเกี่ยวกับเงื่อนไขด้านภาษีต่างๆ และสามารถตัดสินใจได้อย่างถูกต้องเหมาะสมในการกำหนดกลยุทธ์และการตัดสินใจในการดำเนินธุรกิจ
นางสาวบรรจงจิตต์ อังศุสิงห์ อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ กล่าวว่า หนังสือเจตจำนงดังกล่าวจะส่งผลดีด้านการกระตุ้นการจำหน่ายสินค้าจากไทยในประเทศจีน
“IMX มีแพลตฟอร์มการค้าข้ามพรมแดนและอีคอมเมิร์ซที่พร้อมจะช่วยให้เจ้าของธุรกิจและสินค้าของไทยเจาะเข้าตลาดจีนซึ่งเป็นหนึ่งในตลาดที่ใหญ่ที่สุดของโลก ความร่วมมือในครั้งนี้ ยังจะช่วยโปรโมตสินค้าของไทยที่ได้รับตรา Thailand Trust Mark ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันทั้งประเทศไทยและจีน ยังจะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนความรู้และความเชี่ยวชาญในด้านการค้า และขยายปริมาณการค้าระหว่างกันได้เป็นอย่างดี” นางสาวบรรจงจิตต์กล่าว
การทำหนังสือแสดงเจตจำนงดังกล่าว เป็นผลมาจากการที่คณะผู้แทนการค้าของไทยได้ไปเยี่ยมชมอาคารแสดงสินค้าและบริการของ IMX ในงาน CIIE ที่เมืองเซี่ยงไฮ้เมื่อเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา และพบว่าสินค้าไทยได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี โดยเฉพาะสินค้าประเภทผลิตภัณฑ์สปา และของตกแต่งบ้าน จึงได้มีการหารืออันนำมาสู่ข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้
นอกจากนี้ IMX จะได้ถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ให้แก่ภาครัฐของไทย ในด้านการทำธุรกิจที่ให้ความสำคัญต่อการสร้างสรรค์นวัตกรรม การพัฒนาแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซข้ามพรมแดนและซัพพลายเชน รวมทั้งกระชับความสัมพันธ์ระหว่างภาคธุรกิจไทยและจีนอีกด้วย
“ความร่วมมือเชิงกลยุทธ์ในครั้งนี้ เป็นการเปิดโอกาสที่ดีสำหรับภาคเอกชนทั้งของไทยและจีน และก่อให้เกิดการทำงานร่วมกันที่จะขับเคลื่อนการพัฒนาและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของทั้งสองประเทศ” นายเฮนรีกล่าว