ภาษี ที่ SME ควรต้องรู้…..ก่อนเริ่มดำเนินธุรกิจ (ตอนที่ 10)


การประกอบธุรกิจในรูปของห้างหุ้นส่วนสามัญดีไหม

ห้างหุ้นส่วนสามัญคืออะไร ตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ได้บัญญัติไว้เป็นใจความสำคัญว่า คือ ห้างหุ้นส่วนประเภทซึ่งผู้เป็นหุ้นส่วนหมดทุกคนต้องรับผิดร่วมกันเพื่อหนี้ทั้งปวงของหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด โดยผู้เป็นหุ้นส่วนจะลงหุ้นด้วยเงินหรือทรัพย์สินสิ่งอื่นหรือลงแรงงานก็ได้

ห้างหุ้นส่วนสามัญ หากประกอบการแล้วขาดทุน ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนจะต้องรับผิดเป็นส่วนตัว ซึ่งจะต่างจากบริษัทจำกัด คือจะจำกัดความรับผิด โดยรับผิดไม่เกินมูลค่าหุ้นที่ตนยังคงค้างชำระกับบริษัทเท่านั้น ไม่ต้องรับผิดเป็นส่วนตัว

การเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ จะจดทะเบียนหรือไม่จดทะเบียนก็ได้ หากจดทะเบียนก็จะมีสภาพเป็นนิติบุคคลและเสียภาษีเงินได้นิติบุคคล แต่ถ้าไม่จดทะเบียนก็จะมีสภาพเป็นเหมือนบุคคลธรรมดา และเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ก่อนหน้านี้ คือ ก่อนวันที่ 1 มกราคม 2558 มีผู้นิยมจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญเป็นจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นแพทย์ ทนายความ ผู้ประกอบวิชาชีพอิสระอื่นๆ หรือผู้ประกอบการทั่วไป เนื่องจากว่าสามารถกระจายรายได้เพื่อทำให้เสียภาษีเงินได้น้อยลงจากการกระจายหน่วยภาษี ตัวอย่างเช่น แพทย์หากเปิดคลินิกที่เดียว จะเสียภาษีในอัตราสูง อาจถึงเกณฑ์อัตราภาษีสูงสุดของภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา (35%) แต่หากกระจายเปิดเป็นหลายๆ คลินิก ร่วมกับเพื่อนแพทย์ ก็จะทำให้เสียภาษีในอัตราที่ต่ำลงเป็นอย่างมาก

การเสียภาษีในรูปของห้างหุ้นส่วนสามัญในช่วงก่อนวันที่ 1 มกราคม 2558 นั้น เมื่อห้างหุ้นส่วนสามัญชำระภาษีเงินได้เรียบร้อยแล้ว ทุกอย่างถือว่าเสร็จสิ้น คือ ผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนในห้างหุ้นส่วนนั้นจะได้รับยกเว้นไม่ต้องนำเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้รับจากห้างหุ้นส่วนสามัญมาคำนวณเป็นรายได้เพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาประจำปีแต่อย่างใด กล่าวคือ จะเสียภาษีเพียงแค่ 1 ครั้งเท่านั้น (ประมวลรัษฏากร มาตรา 42 (14) ) แต่ในปัจจุบัน กฎหมายดังกล่าวได้ถูกยกเลิกไป ซึ่งมีผลทำให้เงินส่วนแบ่งกำไรที่ผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนในห้างหุ้นส่วนสามัญได้รับ ผู้เป็นหุ้นส่วนแต่ละคนจะต้องมีหน้าที่ต้องนำเงินส่วนแบ่งกำไรดังกล่าวมารวมคำนวณกับเงินได้อื่นๆ ของตนเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของตนเองอีกด้วย เท่ากับต้องเสียภาษีถึง 2 ครั้งด้วยกัน แต่อย่างไรก็ตาม ก็ได้มีกฎหมายกำหนดยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินได้ที่ได้รับจากเงินส่วนแบ่งกำไรจากห้างหุ้นส่วนสามัญหรือคณะบุคคลที่มิใช่นิติบุคคล ที่ได้รับจาก 2 กรณี ดังนี้

(1)การให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ที่เป็นกรรมสิทธ์รวมอันได้มาโดยทางมรดก หรือได้รับจากการให้โดยเสน่หา ซึ่งต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

(2)ดอกเบี้ยเงินฝาก (ตามประมวลรัษฏากร มาตรา 40 (4) (ก) ) ซึ่งถูกหักภาษีเงินได้ ณ ที่จ่าย อัตราร้อยละ 15 (ตามประมวลรัษฏากร มาตรา 50 (2) ) ทั้งนี้ เฉพาะกรณีที่ผู้มีเงินได้ไม่ขอรับเงินภาษีที่ถูกหักไว้คืนหรือไม่ขอเครดิตเงินภาษีที่ถูกหักไว้ ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วน

จากข้อมูลทั้งหมดดังกล่าวนี้ทุกท่านตัดสินใจได้แล้วใช่ไหมครับว่าเราควรหรือไม่ควรที่จะจัดตั้งธุรกิจในลักษณะเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญ

แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ที่ [email protected]

อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับ มาตรการทางภาษีเพื่อส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาประกอบธุรกิจในรูปของนิติบุคคล