ปี 63 บังคับมอ’ไซค์ทุกประเภท ติดเอบีเอสและซีบีเอส


วานนี้ (18 ธ.ค. 61) นายธีระพงษ์ รอดประเสริฐ ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงคมนาคม ประธานเปิดงาน ทดสอบประสิทธิภาพของระบบเบรคเอบีเอสและซีบีเอส ของรถจักรยานยนต์ เพื่อสร้างความปลอดภัย

โดยกล่าวว่า รถจักรยานยนต์เป็นยานพาหนะหลักของคนไทย เนื่องจากสะดวกและใช้เนื้อที่การจราจรน้อย ปัจจุบันมีการจดทะเบียนกว่า 20 ล้านคัน และยังมีไม่น้อยกว่า 12 ล้านคันที่ไม่ได้จดทะเบียน ซึ่งผู้ขับขี่กลุ่มนี้มีความเปราะบาง เพราะเสี่ยงต่อการบาดเจ็บและเสียชีวิต จากสถิติการพบว่ามีอุบัติเหตุที่เกิดจากมอเตอร์ไซค์สูงถึง 75%

ซึ่งระบบเบรคเอบีเอสและซีบีเอส เป็นอุปกรณ์สำคัญที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเบรคในรถจักรยานยนต์ โดยเฉพาะกรณีฉุกเฉิน ทำให้หลายชาติเริ่มออกนโยบายติดตั้งระบบดังกล่าวมากขึ้น สำหรับไทย ขณะนี้กรมการขนส่งทาง ก็ได้เร่งยกร่างประกาศกำหนดให้ระบบเบรคเอบีเอสและซีบีเอส เป็นอุปกรณ์ควบในรถจักรยานยนต์ใหม่ทุกคัน ทุกประเภท คาดว่าจะประกาศใช้ตั้งแต่ปี 63

ด้าน นพ.วิวัฒน์ ศีตมโนชญ์ ผู้จัดการแผนงานความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยกับองค์การอนามัยโลกด้านความปลอดภัยทางถนน เผยถึงการศึกษาในเยอรมันที่พบว่าระบบเอบีเอส ช่วยลดอุบัติเหตุลงได้ถึง 85% ขณะที่ออสเตรเลีย ลดอุบัติเหตุลงได้ 55% หากไทยบังคับให้รถจักรยานยนต์ใหม่ติดตั้งระบบดังกล่าวเพิ่มขึ้น ก็จะช่วยลดการเสียชีวิตและอุบัติเหตุลงได้

ดร.สุเมธ องกิตติกุล ผู้อำนวยการวิจัยด้านนโยบายขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เผยว่า การติดระบบเบรคเอบีเอสและซีบีเอส จะมีต้นทุนคันละ 4-5 พันบาท โดยรวมจะใช้ต้นทุนการดำเนินนโยบายเพื่อติดตั้งราว 7-9 พันล้านบาท ตามการขยายตัวของรถมอเตอร์ไซค์ใหม่ 4.5% และเมื่อครบ 5 ปี จะช่วยลดการสูญเสียลงได้ 6-9 พันราย คิดเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจมากกว่า 2 แสนล้านบาท