OTOP นวัตวิถีครั้งนี้ เราจะพาไปไขความลับแห่งภูมิปัญญา เรียนรู้วัฒนธรรม และวิถีชีวิตอันมีเอกลักษณ์ ซึ่งเป็นแก่นแท้ของวิถีชุมชนบ้านท่าหลวง จังหวัดลพบุรี
บ้านท่าหลวง ตั้งอยู่ด้านตะวันออกของแม่น้ำป่าสัก ซึ่งเป็นเขตป่าสงวน หรือชาวบ้านเรียกกันว่าป่าหลวง เนื่องจากมีสัตว์ป่าหากินจำนวนมาก ในอดีตชาวบ้านมักลักลอบล่องแพข้ามแม่น้ำไปล่าสัตว์ ตัดต้นไม้ ทำให้บริเวณที่ชาวบ้านจอดแพกลายเป็นที่มาของชื่อ ท่าหลวง ซึ่งใครที่แวะไปท่องเที่ยวจะสัมผัสได้กับรอยยิ้มแสนอบอุ่นของเจ้าบ้าน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มโฮมสเตย์ ที่เปิดบ้านต้อนรับนักท่องเที่ยวตลอดเวลา แวะชิมความอร่อยของกระยาสารทที่ขึ้นชื่อ พร้อมประสบการณ์การเลี้ยงแพะเนื้อ และสถานที่อื่นๆ ที่เต็มไปด้วยความสนุกอย่างมีสีสัน ดังนี้
อิ่มเอมธรรมชาติที่น้ำตกวังก้านเหลือง
น้ำตกวังก้านเหลือง ถือเป็นน้ำตกอีกแห่งที่มีความแปลก เพราะเกิดจากตาน้ำขนาดใหญ่ที่ผุดขึ้นมาจากดิน ต่างจากน้ำตกทั่วไป ที่มีต้นน้ำจากภูเขา
ซึ่งสายน้ำที่ไหลลงมาปะทะกับหินผา ทำให้เกิดแผ่นน้ำกว้างกว่า 20 เมตร ลดหลั่นกันไม่ต่ำกว่า 10 ชั้น ปกคลุมด้วยต้นไม้ใหญ่ไหลยาวกว่า 3 กิโลเมตร และไปบรรจบกับแม่น้ำป่าสัก เหมาะต่อลงเล่นให้เย็นใจ จึงทำให้วันหยุดมีนักท่องเที่ยวมาสัมผัสประสบการณ์คึกคักเป็นพิเศษ
ไหว้หลวงปู่ฉัน วัดท่าหลวง ก่อนชมวิวบนสันเขื่อนป่าสัก
เมื่อมาถึงจุดนัดพบวัดท่าหลวง ควรแวะสักการะหลวงปู่ฉัน ขนฺติโก ซึ่งท่านเป็นเคารพบูชาของชาวบ้าน และประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวนักสะสมพระเครื่อง ที่เมื่อมาถึงจะถามหาเหรียญศักดิ์สิทธิ์ รุ่น 1 ผลิตปี พ.ศ. 2431
ทั้งเจ้าอาวาสปัจจุบัน พระครูประโชติธรรมทัต ได้ทำโครงการศูนย์งอกงาม และสอนเพาะถั่วงอกออร์กานิคแนวคอนโด 4 ชั้น เพื่อให้วัดเป็นศูนย์รวมจิตใจ และสร้างอาชีพ ใครที่อยากได้ความรู้การปลูกผักปลอดสาร ก็แวะไปนมัสการเพื่อขอความรู้ได้
จากนั้นสามารถนั่งรถอีแต๋นนำเที่ยวของชุมชน ชมวิวอ่างเก็บน้ำเหนือเขื่อนปักสักชลสิทธิ์ในยามเย็นบรรยากาศร่มรื่นทิวทัศน์งดงาม ด้วยพระมหากรุณาธิคุณของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่โปรดเกล้าให้สร้างขึ้น ทั้งสามารถมานั่งรับประทานอาหารถิ่นบริเวณซุ้มศูนย์ป่าสักได้ และทุกวันที่ 20 ของเดือน ชาวบ้านก็จะหิ้วปิ่นโตมาร่วมวงกินข้าวเย็นกันอย่างสนุกสนาน
คุณน้านันทวรรณ มหาอุฒิ หนึ่งในเกษตรกรบ้านท่าหลวง ผู้น้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงไปใช้อย่างมีคุณค่า พร้อมสอนลูกให้เข้าใจถึงวิถีอันยั่งยืน จากการทดลองปลูกข้าวโพด มัน อ้อย และไก่ไข่ 4 – 5 ตัว ทำให้ปัจจุบันมีไก่ไข่กว่า 30 ตัว
“เราเลยเข้าใจถึงการมีชีวิตอย่างพอเพียง ปลูกผักปลอดสารกินเอง แบ่งปันเพื่อนบ้านด้วย บางครั้งคนในหมู่บ้านก็นำผักมาแลกกับไข่ไก่ของเราบ้าง” คุณน้านันทวรรณกล่าว
คุณลุงปัญญา แก้วหอม คืออีกคนที่ยึดหลักเศรษฐกิจพอเพียง เดิมขับรถสามล้อ แต่เพราะใจรักงานไม้ไผ่ จึงฝึกฝนด้วยตัวเองจนเชี่ยวชาญ สามารถสร้างรายได้จากงานออกแบบเครื่องจักสาน จึงรู้ถึงคุณค่าการใช้ชีวิตที่เรียบง่าย ซึ่งเป็นความสุขที่แท้จริงของชีวิต
สำหรับอาหารถิ่นของบ้านท่าหลวง ล้วนทำมาจากปลา และผลิตภัณฑ์แปรรูปจากปลาก็ขายดีกันทั้งอำเภอ และส่งขายเข้ากรุงเทพฯ ทั้งยังมีออร์เดอร์ตรงจากร้านอาหารในต่างแดน
ส่วนอาหารถิ่น แนะนำเมนูของทานเล่น ปลาร้าทอดสูตรคุณลำดวน ซึ่งเป็นปลาจีนสด หมักเกลือ 1 คืนแล้วคลุกกับข้าวคั่ว ก่อนนำไปคลุกแป้งกรอบ ทอดในน้ำมันร้อนๆ รวมถึงต้มโคล้งปลากรอบ ฉู่ฉี่เนื้อปลาอ่อนกรอบ ที่กินข้าวสวยร้อนๆ อร่อยอย่างลงตัว
ด้านเสน่ห์บ้านๆ หลังจากการทำกล้วยม้วนสวรรค์ กลุ่มสตรีบ้านท่าหลวงจะรวมตัวกันออกกำลังกาย ประกอบจังหวะของกลองโทน กันทุกวันพุธ
ซึ่งกล้วยม้วนสวรรค์ถือเป็นอีกสินค้าโอท็อปรสเลิศ ที่ใช้กล้วยน้ำว้าดิบที่แก่จัด มาปลอกแช่น้ำ 1-2 คืน แล้วสไลด์เป็นชิ้นบางมาม้วน พร้อมแต่งเติมหลากรสชาติตามชอบ เช่น รสเนย รสน้ำผึ้ง บาบีคิว ปาปริกา และแบบสามรส ราคาถุงละ 20 บาท
‘บ้านท่าหลวง’ สัมผัสมนต์เสน่ห์ และแก่นแท้ในวิถีชุมชนของคนลพบุรี