รายงานจาก IPCC เผยว่าตั้งแต่ปี 2015 อุณหภูมิทั่วโลกเพิ่มขึ้น 2 องศาเซลเซียส นั่นจึงเป็นที่มาของคำว่า Climate Change หรือสภาวะการเปลี่ยนด้านอุณหภูมิ ซึ่งก่อให้เกิดปัญหาโลกร้อน ทรัพยากรขาดแคลน รวมถึงการเกิดขึ้นของภัยพิบัติต่างๆ สาเหตุสำคัญของปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศที่เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณนี้ ถูกพูดถึงมาตลอดตั้งแต่ปี 2007
สารคดี The Inconvenient Truth ชี้ว่ามาจากปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อตัวในอากาศจนเกิดเป็นปรากฏการณ์เรือนกระจก ถือเป็นความท้าทายที่เดินทางมาเกือบหนึ่งทศวรรษ เพราะก๊าซเรือนกระจกนี้ นำไปสู่การรณรงค์ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาตลอด 10 ปี
สหประชาชาติตั้งข้อสังเกตว่าการดำเนินการแบบแพลนเอที่อะลุ่มอล่วยอาจไม่เพียงพออีกต่อไป ดังนั้น ตั้งแต่ปี 2018 จึงได้ริเริ่มโครงการมากมายเพื่อแก้ปัญหา ซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์ เรียกกันว่าแพลนบีหรือแผนบี เป็นการรับมือกับปัญหาคาร์บอนไดออกไซด์
โดยใช้วิธี Geoengineering การนำวิศวกรรมและวิทยาศาสตร์มาต่อสู้กับปัญหาโรคร้อนอย่างจริงจัง ทำให้ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์กลายเป็นต้นทุนใหม่ที่สามารถนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด หากทำได้ก็จะสามารถลบภาพหมอกควันในอากาศได้
แม้ทุกวันนี้มนุษย์จะสามารถคิดค้นพลังงานทดแทนขึ้นมาได้มากมาย แต่จะมีประโยชน์อะไร ถ้าปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จากการเผาไหม้ที่เพิ่มขึ้นกว่า 80% จากจำนวนก๊าซทั้งหมดในอากาศ องค์การ The Royal Society จึงปล่อยแผน Geoengineering เพื่อรับมือกับปัญหานี้โดยเฉพาะ และกลายเป็นที่มาของระบบ Carbon Capture and Storage (CCS)
ประกอบด้วย 2 องค์ประกอบหลัก คือ การจัดการก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้หมดไปด้วยวิธีใดวิธีหนึ่ง และการสร้างสุนทรียภาพให้เกิดขึ้นบนท้องฟ้าและอากาศ เพื่อลดปัญหาโลกร้อน
Carbon Capture and Storage ได้ถูกส่งต่อไปยังองค์กรและหน่วยงานในหลายประเทศทั่วโลก ทั้งยังต่อยอด เป็นแนวคิดการสร้างพลังงานจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ หรือการทำให้มลพิษกลายเป็นสิ่งที่ถูกนำมาใช้ให้หมดไป
ปี 2019 จะเป็นปีแห่งการเข้าปะทะระหว่างเทคโนโลยีวิทยาศาสตร์วิศวกรรมกับปัญหาโลกร้อน แต่ทุกสิ่งที่จะสร้างปรากฏการณ์ใหม่ให้แก่การใช้ชีวิตของมนุษย์นี้ ไม่ได้เกิดขึ้นในวันเดียว เพราะในความเป็นจริง ห้องแล็บของผู้เชี่ยวชาญทั่วโลกได้ริเริ่มงานวิจัยเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2014 เช่น การร่วมมือของมหาวิทยาลัย ลีดส์ มหาวิทยาลัยบริสตอล และมหาวิทยาลัยอ๊อกซฟอร์ดในสหราชอาณาจักร นำโดยศาสตราจารย์เพียร์ส ฟอร์สเตอร์ (Piers Forster) ที่ได้ริเริ่มโครงการ Integrated Assessment of Geoengineering Proposals (IAGP) เพื่อจัดการกับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ด้วยการนำมาเป็นส่วนหนึ่งของทรัพยากรพลังงาน
ฟอร์สเตอร์เชื่อว่า บริบทความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อมทุกวันนี้เป็นสิ่งที่นิ่งนอนใจไม่ได้อีกต่อไป การรับมือกับปัญหาเหล่านี้คือต้องแก้ไขให้เร็วที่สุด จึงเกิดรายงาน Climate Geoengineering Governance (CGG) เพื่อยื่นเสนอในการประชุมสหประชาชาติที่ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในปี 2015 นำไปสู่ความตกลงปารีส (Paris Agreement) เพื่อกำหนดมาตรการลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ซึ่งจะเริ่มต้นในปี 2020
หลังจากนั้นจึงได้มีการริเริ่มจัดการกับภัยคุกคามของเมฆพิษ (Chemtrails) ซึ่งเกิดจากเครื่องบินที่ฉีดพ่นสารเคมีซัลเฟอร์ไดออกไซด์ เพื่อควบคุมสภาพอากาศที่เป็นพิษที่เกิดขึ้นในหลายประเทศเป็นอันดับแรก เพราะนอกจากวิธีนี้จะเป็นการแก้ปัญหาแบบผิวเผินแล้ว ยังสร้างมลพิษที่ตกค้างอยู่ในอากาศถึงหลายล้านตัน
งานวิจัยยังต่อยอดสู่การสร้างสรรค์นวัตกรรมจัดเก็บมลพิษเพื่อแปรรูปใช้งานในรูปแบบที่แตกต่าง อย่างโปรเจ็กต์ Petra Nova ในเทกซัสที่ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ในสหรัฐ จากเดิมที่พัฒนาพลังงานจากฟอสซิลมาอยู่ในรูปแบบของก๊าซธรรมชาติ ก็ปรับเป็นการรีไซเคิลของเสียและก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ใช้ในโรงงาน
หรือการออกแบบโรงงานในโคเปนเฮเกน ที่ระดมทุนกับ Kickstarter เพื่อออกแบบการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่อากาศด้วยระบบ Steam Ring โดยรูปร่างของควันรูปวงแหวนที่ถูกปล่อยออกจากโรงงาน เท่ากับจำนวนก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ได้จากการเผาไหม้จำนวน 1 ตัน เท่ากับว่าสามารถลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้หลายเท่าตัว
แนวคิดนวัตกรรม Carbon Capture and Storage นี้ ยังรวมถึงการสร้างเทคนิคใหม่ในการจัดการ ที่เลียนแบบการทำงานของธรรมชาติ อย่างบริษัท Foremost Solar ได้ลดการเพิ่มมลพิษด้วยการสร้างฟาร์มโซลาร์เซลล์ให้สะท้อนแสงขึ้นไปกลางอากาศและนำกลับมาเป็นพลังงาน วิธีการนี้จะเหมือนการใช้แสงส่องทะลุเข้าไปในเมฆดำ เพื่อดึงแสงแดดและอุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นจากก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มาเป็นพลังงานบนแผงโซลาร์เซลล์
หรือการสร้างแหล่งพลังงานขึ้นมาใหม่เพื่อจัดการกับมลพิษ อย่างพลังงานจากพืชน้ำจำพวกสาหร่าย ที่มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ นำมาพัฒนาเซลล์ให้มีคุณสมบัติที่สามารถแปลงเป็นแหล่งพลังงาน จนกลายเป็นอุตสาหกรรม Algae Biofuel Farm ในทุกวันนี้
หรือในการแข่งขันโอลิมปิกที่โตเกียว ในปี 2020 ที่ได้รับความร่วมมือจากบริษัท NEDO และบริษัท IHI ของไทย พัฒนาศักยภาพของการผลิตพลังงานจากสาหร่ายประเภท Euglena โดยเริ่มจากการใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องบินเจ็ตที่ใช้ในช่วงการแข่งขัน และยังรวมถึงการให้บริการ Biofuel ที่ครอบคลุมแทบทุกระบบการคมนาคมในช่วงการแข่งขันโอลิมปิก
ซึ่งถือเป็นปรากฏการณ์แห่งความเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ สำหรับการนำนวัตกรรมด้านไบโอชีวภาพ และวิศวกรรมเทคโนโลยีมาใช้ เพื่อลดปัญหาการคมนาคมที่หนาแน่น ในช่วงการแข่งขัน นำไปสู่สัญญาณการสร้างระบบการจัดการครั้งใหม่ที่ไม่อ่อนข้อต่อปัญหาโลกร้อนอีกต่อไป
Source | TCDC