คนไทยทำอาชีพอะไรดี อาชีพไหน อุตสาหกรรมไหน ที่รัฐหนุนในปีนี้


รัฐบาลไทยยังคงเดินหน้า นโยบาย Thailand 4.0 กลไกหนึ่งที่สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจเพื่ออนาคต หรือ new engine of growth ซึ่งมีการวางเป้าหมายเอาไว้ที่อุตสาหกรรมหลักที่จะผลักดันตามนโยบายนี้

10 อุตสาหกรรมเป้าหมายของนโยบาย Thailand 4.0 เราเองในฐานะของฟันเฟืองตัวเล็กๆ ของประเทศ ก็ต้องรู้ให้เท่าทันว่า อุตสาหกรรมไหนที่รัฐกำลังให้ความสำคัญ เพราะเมื่อรู้แล้วแน่นอนว่าจะเกิดการส่งเสริมและการสร้างงานในอุตสาหรรมนั้นอย่างมากมาย ย่อมเป็นโอกาสที่ดีถ้าเราจะเข้าไปอยู่ในอุตสาหกรรมนั้นๆ

5 อุตสาหกรรม First S-Curve หรืออุตสาหกรรมเดิมที่มีศักยภาพ
-อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่
-อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ
-อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดีและการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ
-อุตสาหกรรมการเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ
-อุตสาหกรรมการแปรรูปอาหาร

5 อุตสาหกรรม New S-Curve หรืออุตสาหกรรมอนาคต
-อุตสาหกรรมหุ่นยนต์และเครื่องจักรอัตโนมัติ
-อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์
-อุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ
-อุตสาหกรรมดิจิทัล
-อุตสาหกรรมการแพทย์ครบวงจร

ไทยยังขาดกำลังคนด้านดิจิทัล

จากการศึกษาของสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า) ร่วมกับสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) พบว่า ในปี 2560 ประเทศไทยมีความต้องการกำลังคนด้านดิจิทัลเพิ่มขึ้นประมาณ 14,000 คน และมีแนวโน้มสูงขึ้นทุกปี และปัญหาหลักด้านกำลังคนดิจิทัลของประเทศไทย คือ มีบัณฑิตที่จบการศึกษาจำนวนมาก แต่ขาดแคลนกำลังคนที่มีคุณภาพ เนื่องจากบัณฑิตที่จบมาไม่สามารถทำงานได้จริง ประเทศไทยจึงต้องเร่งพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลที่มีคุณภาพและสามารถทำงานได้จริง เพื่อตอบสนองความต้องการของภาคธุรกิจและอุตสาหกรรม

ดีป้า จึงเริ่มผลักดันให้เกิดมาตรการช่วยเหลือหรือการอุดหนุนการให้ทุนศึกษาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล (depa Digital Scholarship Fund) ขึ้น เพื่อกระตุ้นและเร่งรัดให้เกิดการสร้างระบบนิเวศน์ในการพัฒนากำลังคนด้านดิจิทัลเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเป็นการให้ทุนในการพัฒนาทักษะความรู้ความสามารถด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลในสาขาที่ขาดแคลน

5 สาขาด้านดิจิทัลที่รัฐให้การสนับสนุน
1. การเขียนโปรแกรมระดับสูง
2. เทคโนโลยีหุ่นยนต์ (Robotics)
3. เมคคาทรอนิกส์ (Mechatronics)
4. การวิเคราะห์ข้อมูลระดับสูง (Data Analytics)
5. เทคโนโลยีป้องกันด้านความปลอดภัย (Advanced Security)

ซึ่งมาตรการดังกล่าว ดีป้าจะให้การส่งเสริมและสนับสนุนสูงสุดไม่เกิน 1,000,000 บาทต่อราย ซึ่งประกอบด้วยค่าใช้จ่ายในการเข้ารับการอบรมหรือค่าใช้จ่ายในการยกระดับทักษะความรู้ด้านดิจิทัลตาม หลักสูตรหรือโครงการที่ได้รับความเห็นชอบจากดีป้า และเป็นค่าตอบแทนหรือค่าจ้างในการปฏิบัติงานในสถานประกอบการที่มีข้อตกลงร่วมกันกับผู้ที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุน

สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ฝ่ายส่งเสริมอุตสาหกรรมดิจิทัล สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล โทร. 02 141 7100-1 หรือสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ www.depa.or.th