บ้านพรหมทินใต้ เมืองยุคทวารวดี ที่เต็มไปด้วยการค้นพบ


นวัตวิถี พาไปเที่ยวบ้านพรหมทินใต้ หมู่ 11 อำเภอโคกสำโรง จ.ลพบุรี ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นชาวอีสานที่เดินทางมาค้าวัวค้าควายเมื่อ 100 กว่าปีก่อน และได้ตั้งรกรากอยู่จนกลายเป็นหมู่บ้านในทุกวันนี้ ปัจจุบันชาวบ้านยังนิยมใช้ภาษาลาวในการพูดคุย

วัดพรหมทินใต้ เป็นดินแดนแห่งประวัติศาสตร์หลายยุคทั้งยังเป็นห้องเรียนนอกสถานที่ของนักศึกษาคณะโบราณคดี เนื่องจากขุดค้นโบราณวัตถุจำนวนมาก เช่น ใบเสมาสภาพสมบูรณ์

หลุมสำรวจ ณ เมืองโบราณบ้านพรหมทินใต้ เป็นพื้นที่สร้างทับซ้อนกับเมืองโบราณยุคทวารวดี มีผังเมืองเป็นรูปสี่เหลี่ยมคางหมู เคยมีคูน้ำคันดินล้อมรอบ ตัวโบราณสถานอยู่ตรงกลาง มีลำน้ำคลองโพนทองไหลผ่านทางทิศตะวันออก ปัจจุบันเป็นเนินดินสูงที่ทับถมโบราณสถานเรื่อยมา

จากการสำรวจ ได้ขุดพบลูกปัดหินแก้ว ต่างหูทำจากดอกไม้ทะเล ลูกปัดหินสีเขียวติดกับโครงกระดูก ที่คาดว่าเป็นหินสีเขียวจากเวียดนาม หรือไต้หวัน

บวกกับการขุดค้นพบเครื่องมือเหล็ก กำไรสำริด ลูกปัด ทำให้สันนิษฐานว่าพื้นที่แห่งนี้ เป็นดินแดนยุคก่อนประวัติศาสตร์ ราว 2,500 – 3,000 ปีมาแล้ว

อุโบสถเก่า พระหินทรายสมัยทวารวดี และพระพนับสดี ศรีทราวดี โบราณวัตถุ 1000 กว่าปี จากการขุดพบโบราณวัตถุ จะเห็นอุโบสถเก่าสมัยอยุธยา มีหลังคาคลุม ภายในมีพระหินทรายโบราณยุคสมัยทวารวดีหลายองค์ มีพระพักตร์แปลกตา

ซึ่งกรมศิลปากรยืนยันว่า คือพระพุทธรูปเก่าแก่ อายุราว 1,200 – 1,300 ปี เป็นพุทธศิลป์ประยุกต์จากอินเดีย เชื่อว่าพระพุทธรูปองค์นี้น่าจะสร้างขึ้นเพื่อประดิษฐานบนที่สูง เช่นหอคอย ประตูเมืองในอดีต ปัจจุบันจัดตั้งอยู่บนกุฏิเจ้าอาวาส

จากนั้นมายัง อาคารพิพิธภัณฑ์ชุมชนบ้านพรหมทินใต้ บริเวณจัดแสดงโบราณวัตถุไว้มากมาย และนำเสนอให้เห็นยุคสมัยต่าง ๆ ของบ้านพรหมทินใต้ โดยสามารถเข้าชมได้ทุกวัน

ด้านวิถีชุมชน ชาวบ้านมักจับปลาด้วยการ ยกยอสะดุ้งที่คลองโพน เป็นภูมิปัญญาชาวบ้านที่สืบทอดกันมา

ซึ่งยอขนาดใหญ่จะใช้ท่อนซุงเป็นคันยอ ส่วนก้านของยอจะเป็นไม้ไผ่ลำขนาดใหญ่ผูกติดกับอวนสี่เหลี่ยม ขนาดประมาณ 8×8 เมตร แล้วหย่อนลงในคูคลอง เพื่อจับปลาตามธรรมชาติ

ในอดีตเป็นคูน้ำในเมืองทวารวดี ที่เมื่อถึงหน้าน้ำหลากปลาจะชุมมาก ปัจจุบันที่จับได้จะเป็นปลาตะเพียน ปลาช่อน และปลาซิวปลาสร้อย

สำหรับของฝากโอทอปนวัตวิถี หากอยากได้ของดีราคาต้นทุน แนะนำให้ไปบ้านลุงสมยศ เพราะจะพบตะกร้าสานพลาสติก หลากสีสัน หลายรูปทรง

ส่วนอาหารถิ่น ได้แก่ น้ำพริกปลาทูผักต้ม, ทอดมันปลากราย, ขนมจีนน้ำยาแกงปลาช่อนลูกชิ้นปลากราย, แกงเขียวหวานไก่ และปิดท้ายมื้ออาหารด้วยขนมกล้วยและขนมใส่ไส้