ภาษี ที่ SME ควรต้องรู้…ก่อนเริ่มดำเนินธุรกิจ (ตอนที่ 13)


เงินกินเปล่า เงินแป๊ะเจี๊ยะ เสียภาษีอย่างไร

กรณีบุคคลธรรมดาให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ เช่น อาคาร โรงเรือน ที่ดิน และได้รับค่าเช่าล่วงหน้ามาเป็นเงินก้อนใหญ่ ไม่ว่าจะเรียกว่า เงินกินเปล่า เงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินช่วยค่าปลูกสร้าง เงินค่าซ่อมแซม หรือได้รับกรรมสิทธิ์ในอาคารหรือโรงเรือน หรือเงินได้อื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน โดยยอมให้ผู้เช่าได้เช่าอสังหาริมทรัพย์นั้นเป็นเวลานาน เช่น 10 ปี 20 ปี หรือ 30 ปี ซึ่งผู้ให้เช่ามีหน้าที่จะต้องนำเงินได้ดังกล่าวไปยื่นรายการและชำระภาษีเงินได้ ในกรณีนี้ถ้าให้ผู้ให้เช่าจะต้องรับภาระในการเสียภาษีเงินได้จากจำนวนเงินกินเปล่า เงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินช่วยค่าปลูกสร้าง เงินค่าซ่อมแซม หรือค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์นั้นทั้งหมดในปีเดียวกันแล้ว ก็ย่อมจะเป็นภาระหนักแก่ผู้ให้เช่า เพราะจะทำให้เสียภาษีเป็นจำนวนมาก กระทรวงการคลังจึงได้มีประกาศ (เรื่อง การเสียภาษีเงินได้ของผู้มีเงินได้จากการให้เช่าทรัพย์สิน ที่ได้รับเงินกินเปล่า เงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินค่าปลูกสร้าง เงินค่าซ่อมแซม หรือค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์หรือเงินได้อื่นในลักษณะทำนองเดียวกัน ลว. 8 กรกฎาคม พ.ศ. 2558) เพื่อผ่อนปรนให้เงินได้ดังกล่าวเป็นเงินได้ตามส่วนแห่งจำนวนปีของอายุการเช่า เพื่อเป็นการบรรเทาภาระภาษีของผู้เสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และเพื่อจะได้เสียภาษีโดยถูกต้องตามกฎหมาย

โดยประกาศฉบับนี้กำหนดให้ ผู้ให้เช่าซึ่งเป็นผู้มีเงินได้ที่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสามารถเฉลี่ย เงินกินเปล่า เงินแป๊ะเจี๊ยะ เงินค่าปลูกสร้าง เงินค่าซ่อมแซม และค่าแห่งอาคารหรือโรงเรือนที่ได้รับกรรมสิทธิ์นั้น ตามส่วนแห่งจำนวนปีของอายุการเช่าได้ เช่น ผู้ให้เช่าได้รับเงินกินเปล่าในการให้เช่าอาคาร เป็นเงิน 30,000,000 บาท แต่ผู้ให้เช่าต้องผูกพันให้เช่าเป็นเวลา 30 ปี ดังนี้ให้เฉลี่ยเงินกินเปล่า จำนวน 30,000,000 บาท นั้นออกเป็นรายปี จำนวน 30 ปี โดยผู้มีเงินได้ดังกล่าวจะมีเงินได้ปีละ 1,000,000 บาท และผู้มีเงินได้ในกรณีนี้จะต้องยื่นรายการเงินได้และชำระภาษีเงินได้จาก เงินกินเปล่าที่เฉลี่ยเป็นรายปีตามจำนวนปีของอายุการเช่าของทุกปีที่เฉลี่ยให้เสร็จสิ้นไปภายในเดือนมีนาคมของปีถัดจากปีที่ได้รับเงินได้พึงประเมินนั้น และเมื่อถึงกำหนดยื่นรายการในการเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมของทุกปี ผู้ให้เช่าจะต้องนำเงินได้ที่เฉลี่ยและเสียภาษีล่วงหน้าไปแล้วดังกล่าวมาคำนวณกับเงินได้ค่าเช่ารายปีของแต่ละปี (ถือเป็นเงินได้ตามมาตรา 40 (5) (ก) แห่งประมวลรัษฎากร) และคำนวณเพื่อเสียภาษี โดยสามารถนำภาษีที่เสียไว้ก่อนแล้วล่วงหน้าของปีนั้นมาเป็นเครดิตในแบบ ภ.ง.ด. 90 ได้

แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ที่ [email protected]