ข้อพิจารณาของการหักค่าใช้จ่ายของเงินได้จากวิชาชีพอิสระ (เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6)
เงินได้พึงประเมินประเภทที่ 6 เป็นเงินได้จากการประกอบวิชาชีพอิสระ ซึ่งกฎหมายกำหนดไว้ 6 ประเภท ได้แก่ วิชากฎหมาย การประกอบโรคศิลปะ วิศวกรรม สถาปัตยกรรม การบัญชี และประณีตศิลปกรรม โดยกฎหมายกำหนดให้เลือกหักค่าใช้จ่ายได้ ดังนี้
1.เงินได้จากการประกอบโรคศิลปะ เช่น แพทย์ พยาบาล เภสัชกรรม เทคนิคการแพทย์ ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 60
2.เงินได้จากวิชาชีพอิสระนอกจากข้อ 1. ให้หักค่าใช้จ่ายเป็นการเหมาในอัตราร้อยละ 30
โดยมีข้อที่จะต้องพิจารณา คือ จะต้องเป็นการประกอบวิชาชีพเอง ถึงจะเป็นไปตามเงื่อนไขนี้ ไม่ใช่ไปเป็นลูกจ้างซึ่งได้รับค่าตอบแทนในรูปของเงินเดือน ค่าจ้าง ซึ่งถือเป็นเงินได้จากการจ้างแรงงาน (เป็นเงินได้ประเภทที่ 1 ตามมาตรา 40 (1) ) หรือไม่ได้เป็นลูกจ้างแต่ได้รับค่าตอบแทนเป็นจำนวนเงินแน่นอน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับความยากง่ายของงานที่ทำ ซึ่งถือเป็นเงินได้จากการรับทำงานให้ (เป็นเงินได้ประเภทที่ 2 ตามมาตรา 40 (2) ) ซึ่งเงินได้ทั้ง 2 ประเภทดังกล่าวกฎหมายกำหนดให้หักค่าใช้จ่ายแบบเหมา ทั้งเงินได้ประเภทที่ 1 และเงินได้ประเภทที่ 2 รวมกันได้เพียงร้อยละ 50 และเป็นจำนวนเงินรวมกันไม่เกิน 100,000 บาท เท่านั้น
สำหรับความแตกต่างของค่าตอบแทนที่ผู้ประกอบโรคศิลปะได้รับจะถือเป็นเงินได้ประเภทใดนั้น กรมสรรพากรได้ทำหนังสืออธิบายไว้ ดังนี้
(1)กรณีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะทำงานในสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน โดยได้รับค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนหรือค่าจ้าง ค่าตอบแทนที่ได้รับถือเป็นเงินได้พึงประเมินตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
(2)กรณีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะตาม (1) มีรายได้พิเศษจากสถานพยาบาลที่ตนทำงานอยู่ เช่น เงินค่าล่วงเวลาจากการเข้าเวร หรือค่าตอบแทนพิเศษในการรักษาผู้ป่วย เป็นต้น ค่าตอบแทนที่ได้รับถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (1) แห่งประมวลรัษฎากร
(3)กรณีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะตาม (1) ไปทำงานเป็นครั้งคราวในสถานพยาบาลอีกแห่งหนึ่งโดยได้รับค่าตอบแทนหรือค่าจ้างจากการทำงานเป็นจำนวนแน่นอนในแต่ละเดือน ไม่ว่าหน้าที่หรือตำแหน่งงานหรืองานที่รับทำให้นั้นจะเป็นงานประจำหรือชั่วคราว ค่าตอบแทนที่ได้รับถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (2) แห่งประมวลรัษฎากร
(4)กรณีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะทำสัญญาหรือข้อตกลงพิเศษกับสถานพยาบาลที่ตนทำงานอยู่เพื่อประกอบโรคศิลปะเป็นการส่วนตัวนอกเวลาทำการปกติ โดยการรับตรวจและรักษาผู้ป่วย และมีข้อตกลงแบ่งเงินที่ตนได้รับจากผู้ป่วยให้แก่สถานพยาบาลเป็นลายลักษณ์อักษรค่าตอบแทนที่ได้รับถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร
(5)กรณีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะทั้งที่ทำงานประจำและมิได้ทำงานประจำในสถานพยาบาลของรัฐหรือเอกชน แต่ประกอบโรคศิลปะโดยการรับตรวจและรักษาผู้ป่วยที่ตนนำเข้ามารักษาที่สถานพยาบาลอีกแห่งหนึ่งเป็นครั้งคราว ค่าตอบแทนที่ได้รับถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร
(6)กรณีผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบโรคศิลปะมีเงินได้จากการเปิดสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาลเป็นของตนเองเฉพาะที่ไม่มีเตียงรับผู้ป่วยไว้ค้างคืน ค่าตอบแทนที่ได้รับถือเป็นเงินได้พึงประเมิน ตามมาตรา 40 (6) แห่งประมวลรัษฎากร
ดังนั้น การหักค่าใช้จ่าย จะหักได้มากหรือได้น้อยก็ขึ้นอยู่กับประเภทของเงินได้ดังที่ได้กล่าวมานี้ครับ
แลกเปลี่ยนความคิดเห็นกันได้ที่ [email protected]