ช่องทางส่งออกไปกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์


กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศเผยพฤติกรรมผู้บริโภคกลุ่มนอร์ดิกส์ ชื่นชอบความทันสมัย เทคโนโลยีก้าวหน้า กุญแจสำคัญอยู่ที่”คุณภาพ-ความปลอดภัย”

 

นางนันทวัลย์ ศกุนตนาค อธิบดีกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ  เปิดเผยรายงานจากสำนักงานส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ณ กรุงโคเปนเฮเกน ประเทศเดนมาร์กแจ้งว่า กลุ่มประเทศนอร์ดิกส์(ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของยุโรป ประกอบด้วย 5 ประเทศ ได้แก่ เดนมาร์ก สวีเดน ฟินแลนด์ นอร์เวย์ และไอซ์แลนด์) จากการศึกษาพฤติกรรมการบริโภคของกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์จะคล้ายคลึงกัน  เป็นกลุ่มคนที่ชอบความทันสมัย นิยมสินค้าที่มีเทคโนโลยีก้าวหน้า น่าแฟชั่น แต่เรียบง่าย มีมาตรฐานความเป็นอยู่สูง จึงนิยมสินค้าที่มีคุณภาพ และปลอดภัย นิยมจัดตกแต่งบ้านที่อยู่อาศัยตามฤดูกาล เนื่องจากฤดูหนาวไม่สามารถออกไปภายนอกบ้านได้มาก ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ภายในบ้าน นิยมสินค้าที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพร่างกาย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และประชากรส่วนใหญ่เป็นคนสูงวัย (Aging society)

สินค้าผลิตภัณฑ์อาหารเกษตรอินทรีย์ เสื้อผ้าเครื่องนุ่งห่มที่ทำจากใยธรรมชาติ (เสื้อผ้าที่ได้รับความนิยมในตลาด เช่น 100% Organic Cotton) เครื่องประดับตกแต่งบ้านที่สามารถที่มีใบรับรองมาตรฐานสากล หรือสามารถตรวจสอบห่วงโซ่การผลิตได้ เช่น ผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม หรือสังคม เป็นต้น ได้รับความนิยมขยายตัวเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้มีแนวโน้มผู้บริโภคหันมานิยมอาหารเอเชีย (Asian food) และรับประทานข้าวกันมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริโภคข้าวหอมมะลิ ข้าวออร์แกนิกส์ ข้าวผสมธัญพืช ข้าวกล้อง ข้าวซ้อมมือ ซึ่งสามารถพบเห็นจ่าหน่ายในซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไป ไม่เฉพาะในซูปเปอร์มาร์เก็ตเอเชียเท่านั้น ขนาดที่นิยมบริโภค คือ ขนาดบรรจุประมาณ 0.5 – 1 กก. เนื่องจากผู้บริโภคนิยมการบริโภคข้าวเป็นครั้งคราว ในปริมาณไม่มาก 

“มาตรฐานคุณภาพสินค้าเป็นกุญแจสำคัญของการส่งออกสินค้ามายังตลาดนี้ รวมทั้งการสร้างตราสินค้าของตนเอง ชูจุดเด่นทางด้านการใส่ใจด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม (Corporate Responsibility) การรักษามาตรฐานสากลและของผู้นำเข้า (Standards & Codes) การใส่ใจด้านคุณภาพ (Quality Management) โดยอาจการเพิ่มมาตรฐานสากลที่เป็นที่ยอมรับทั่วโลกกับสินค้า เช่น เลือกใช้สัญลักษณ์หรือตรารับรองเกษตรอินทรีย์ของอียู (EU Organic Logo) หรือ Nordic Ecolabel เพื่อเป็นการเพิ่มความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคถึงวิธีการจัดหาและกระบวนการผลิตอย่างยั่งยืน อย่างไรก็ตามราคาเป็นปัจจัยสำคัญในการตัดสินใจซื้อของผู้นำเข้าในตลาดนี้”นางนันทวัลย์ กล่าว

อุตสาหกรรมที่มีโอกาสการขยายความร่วมมือทั้งด้านการค้าและการลงทุน ได้แก่ อุตสาหกรรมยาและเวชกรรม (Medical) วิทยาศาสตร์ชีวภาพ (Life science) เช่น BioTech อุปกรณ์การแพทย์ (Medical devices) เครื่องช่วยฟัง อุตสาหกรรมด้านเทคโนโลยี เช่น พลังงานสะอาด (Cleantech) (เช่น พลังงานลม พลังงานแสงอาทิตย์ Biomass, Water treatment, Lighting และรถยนต์พลังงานไฟฟ้า), Bioenergy, เทคโนโลยีสารสนเทศ (ICT) เช่น Software เทคโนโลยีไร้สาย Wireless & mobile technology/communication รวมทั้งสถาปัตยกรรมและการออกแบบ (Architecture & Design) อุตสาหกรรมการเกษตร บริการโรงแรมเป็นอีกหนึ่งอุตสาหกรรมที่เป็นช่องทางการลงทุน

“ธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อมที่มีโอกาสในการลงทุนในตลาดนอร์ดิกส์ เช่น โรงแรม เนื่องจากในปัจจุบันกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ยังมีโรงแรมที่พักระดับ 5 ดาว ไม่มากนัก และพื้นที่ว่างมากมาย สามารถขยายการลงทุนได้ นอกจากนี้ยังมีภัตตาคาร ร้านอาหาร Take Away ธุรกิจสปา นวดแผนโบราณ เสริมสวย และการทำเล็บ เป็นต้น”นางนันทวัลย์ กล่าว  

สินค้าไทยที่มีศักยภาพในการส่งออกมายังกลุ่มประเทศนอร์ดิกส์ โดยในช่วงปี 2556 สินค้าที่ส่งออกมาก 10 อันดับแรก ได้แก่ เครื่องคอมพิวเตอร์ มูลค่า 123 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-32%) อัญมณีและเครื่องประดับ มูลค่า 113 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-31%) เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ มูลค่า 77 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (13%) รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ มูลค่า 74 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-30%) อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป มูลค่า 67 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (-2%) รองเท้าและชิ้นส่วน มูลค่า 66 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (45%) เป็นต้น สินค้าไทยที่ไทยโดดเด่นในตลาดนี้ ได้แก่ สินค้าในกลุ่มอาหาร เช่น ข้าวหอมมะลิ และผลิตภัณฑ์กุ้งแช่เย็น และแช่แข็ง ไก่แปรรูป เครื่องปรุงรส เป็นต้น