บ้านซับผาสุก หมู่ 9 ตำบลศิลาทิพย์ อำเภอชัยบาดาล จ.ลพบุรี มีชาวบ้านกลุ่มแรกเข้ามาตั้งถิ่นฐานคือ ปู่ไว ภู่คง ปู่ลี สามพี่น้องที่พาครอบครัว และวัว-ควาย ย้ายหนีโรคห่ามาจากบ้านโคกสลุง โดยบริเวณนี้เป็นคลองน้ำซับ ริมคลองมีดอกโศกอยู่มาก ปู่ไวตั้งใจเรียกว่าบ้านดอกโศก แต่เพี้ยนตามคนเรียกเรื่อยมาเป็นบ้านซับโศก
ต่อมาในปี พ.ศ. 2534 ปู่ไว ปู่ปลี ภู่คง และคนอื่นๆที่ย้ายตามมา ได้พร้อมใจเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจากซับโศก มาเป็น บ้านซับผาสุก ตามความเชื่อที่ว่าจะนำความผาสุกสงบมาสู่คนในหมู่บ้าน
ชาวบ้านซับผาสุกผูกพันกับธรรมชาติ ชุมชนจึงร่วมใจอนุรักษ์ผืนป่าให้คงไว้ซึ่งความสมบูรณ์ ทั้งคนรุ่นหลังยังพร้อมใจปลูกต้นไม้ปลูกสมุนไพรเพิ่ม เพื่อเป็นสถานที่ท่องเที่ยว และใช้รักษาโรค
วัดตะเคียนคู่ มีองค์พระพุทธรูปใหญ่ประดิษฐานกลางแจ้ง อยู่บนเนินเขาสามารถเดินขึ้นบันไดได้สะดวก และมีองค์พระพุทธอีกหลาย ๆ หลายปาง เรียงรายล้อม ผู้คนมักมากราบสักการะขอพร และแวะไปศาลเจ้าแม่ตะเคียนคู่ หรือเจ้าแม่ตะเคียนเงิน และเจ้าแม่ตะเคียนทอง ซึ่งสันนิษฐานว่าเป็นต้นตะเคียนที่มีอายุกว่าพันปี ส่วนใหญ่มักมาถวายชุดไทย เครื่องสักการะ และประแป้งขัดขอเลขเด็ด โดยมีบทให้สวดว่า ‘รวยทุกวัน รวยทุกเดือน รวยทุกปี รวยด้วยบารมี แม่ตะเคียนเงินแม่ตะเคียนทอง’
ไม่ไกลกันมาก เป็นที่ตั้ง ศาลเจ้าพ่อทองดำ เหตุการณ์เกิดจากมีร่างทรงมาประทับคนในหมู่บ้าน ปัจจุบันศาลได้มีการก่อตั้งขึ้นเป็นเวลามากกว่า 50 ปี และทุกปีจะมีการเชิญร่างทรงทุกวันขึ้น 6 ค่ำ เดือน 6 พร้อมนำไก่ หัวหมู ไข่ไก่ หรือที่ชาวบ้านว่า ไก่กุ้ม มาเลี้ยงเจ้าพ่อ ถือเป็นการทำบุญอย่างหนึ่ง และเพื่อให้เกิดความสบายใจ และชม ต้นมะขาม 100ปี อนุสรณ์ที่สำคัญของการก่อตั้งชุมชนบ้านซับผาสุข
ชาวบ้านซับผาสุก มีวิถีชีวิตเชิงเกษตรกรรม เช่นทำนา เลี้ยงสัตว์ และจับสัตว์หาปลาแม่น้ำ “มีแพะก็เหมือนมีเงินอยู่ในบ้านพร้อมที่จะขาย จากโครงการ 9101 ชาวบ้านต่างประสบผลสำเร็จในเรื่องของการซื้อแพะต่อยอดจากสามแม่เป็นหกแม่ เป็นสิบแม่” ฟาร์มแพะเนื้อ เป็นการเลี้ยงแพะเนื้อเพื่อขายเนื้อแพะทั้งตัว ผสมผสานกับการท่องเที่ยวนวัตวิถีด้วย คุณ วิลาศ นามกร เป็นผู้ดูแลแพะได้แสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเลี้ยงแพะไว้ว่า “ตอนนี้การเลี้ยงแพะจดเป็นวิสาหกิจแล้ว รวบรวมแพะให้สมาชิก เอาแพะมาขายให้เราไปขายต่อให้พ่อค้า ขายทั้งตัวชั่งกิโลขาย เลี้ยงสัตว์สร้างรายได้ให้เกษตรกร ซึ่งมันไม่ต้องลงทุนเยอะ”
ปัจจุบันนอกจากชาวบ้านเลี้ยงแพะเพื่อขายเนื้อ และสร้างเป็นจุดขายใหม่ในเรื่องการท่องเที่ยวชุมชนอีกด้วย เพราะที่ฟาร์มเลี้ยงแพะแบบธรรมชาติ ปล่อยให้อิสระออกอาหารแทะเล็มกินหญ้าเอง ผู้เลี้ยงต้องให้ความเอาใจใส่ต่อการจัดหาปัจจัยการผลิตที่แพะต้องการใช้ในการดำรงชีวิตและการให้ผลผลิตแต่ค่าใช้จ่ายในการดูแลน้อยกว่ามาก
ด้วยความคิดสร้างสรรค์ของชุมชนบ้านซับผาสุก ที่ต้องการนำวัสดุเหลือใช้มาสร้างมูลค่าเพิ่ม จึงช่วยกันคิดและเริ่มประดิษฐ์เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ อาทิ
กระเป๋าถือจากซองกาแฟ จากการลองนำซองกาแฟมาลองถักเล่น และได้พัฒนาต่อยอดเป็นกระเป๋าถือ ที่มียอดสั่งซื้อทางออนไลน์มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง
เปลญวน เริ่มจากปี 2558 กรมพัฒนาชุมชนได้นำครูมาสอนทำเปลญวน ต่อมาชาวบ้านได้ฝึกถักจนเชี่ยวชาญ และพัฒนาต่อยอดจนเป็นอีกสินค้าชุมชน สร้างอาชีพสร้างรายได้
โมบายหลอด การรวมกลุ่มของแม่บ้านชุมชน เพื่อทำเป็นอาชีพเสริม โดยจะนำหลอดสีสันสดใส มาผ่าครึ่งแล้วมาทำถักเป็นโมบายในรูปแบบต่างๆ
ข้าวไรซ์เบอร์รี่ ผลผลิตจากเกษตรอินทรีย์ ไร้สารเคมีและไม่พ่นยาฆ่าแมลง เพื่อประโยชน์ต่อสุขภาพ
อาหารถิ่นบ้านซับผาสุก ส่วนใหญ่เป็นเมนูธรรมดา แต่รสเลิศ เช่น น้ำพริกกะปิ ปลาทูทอด ที่เลือกใช้กะปิชั้นดี เนื้อเนียนละเอียด แห้ง มีกลิ่นหอม มีเคล็ดลับความอร่อยคือ จะนำไปห่อใบตองเผาให้หอมก่อนนำมาปรุง
แกงไก่หน่อไม้ เลือกใช้หน่อไม้เปรี้ยวหรือหน่อไม้ดองทำเอง มาปรุงกับพริกแกงรสจัดจ้าน กะทิ น้ำตาลปี๊บหวานมัน และเนื้อไก่สับ ที่อร่อยลงตัวกับข้าวไรซ์เบอร์รี่ร้อนๆ
ปั้นขลิบไส้ไก่ ซึ่งสูตรการทำขนมปั้นขลิบของที่นี่ได้สูตรมาจากชาววัง เวลาเคี้ยวจึงสัมผัสความหอมอร่อยจากเนื้อแป้งกรอบ และไส้ข้างในที่นุ่มละมุนลิ้น
อย่างที่รู้กันดีว่าลพบุรีเป็นจังหวัดที่วัดไทยมากติดอันดับ ร้านตรีเพชร (เทพศิริ) โดยคุณปราณี ปาผล จึงยึดมั่นรับใช้พุทธศาสนา ด้วยบริการรับออกแบบ และสร้างงานประติมากรรมพระพุทธรูปแบบต่างๆ ทั้งยังเป็นศูนย์กลางของเหล่าช่างมากฝีมือ จากทั่วสารทิศ