วันเสาร์, เมษายน 20, 2567

บ้านบ้านทราย มรดกทางวัฒนธรรมอันมีคุณค่า จากแคว้นเชียงขวาง

by Phawanthaksa, 21 มกราคม 2562

บ้านบ้านทราย หมู่ 2 อำเภอบ้านหมี่ จ.ลพบุรี คือมรดกทางวัฒนธรรมของไทยพวน ที่อพยพถิ่นฐานมาจากเมืองพวน แคว้นเชียงขวาง ประเทศลาว ตั้งแต่สมัยกรุงธนบุรี และย้ายกันมาเป็นระยะ โดยครั้งสุดท้ายที่ได้ย้ายมามากที่สุด คือช่วงสมัยรัชกาลที่ 5

โดยเล่าต่อกันมาว่า พ.ศ. 2369 มีพระภิกษุสงฆ์ ชื่อว่า “หล้า” ชาวบ้านเรียกว่า “ครูบานาวา” ออกธุดงค์มาจากเชียงขวาง ประเทศลาว เพื่อตามหาญาติ และพบพี่สาวชื่อว่า “ถอ” ที่หมู่บ้านทราย อำเภอเมือง จังหวัดลพบุรี จึงสร้างวัดบ้านทราย และอยู่ที่นั่นเกือบ 20 ปี แล้วออกธุดงค์ย้ายที่อยู่ใหม่ไปทางเหนือ จนพบพื้นที่ที่อุดมสมบูรณ์ บริเวณวังน้ำใหญ่ หรือที่เรียกกันว่า “วังเดือนห้า” พร้อมสร้างวัดบ้านทรายใหม่บนที่แห่งนี้จนถึงปัจจุบัน

แต่เดิมอำเภอบ้านหมี่มีชื่อว่า อำเภอบ้านเซ่า ซึ่งคำว่า “เซ่า” ภาษาพวน แปลว่า “หยุดพัก” แต่ได้มีการเปลี่ยนชื่อใหม่เป็น “อำเภอบ้านหมี่” คำว่า “หมี่” ภาษาพวนหมายถึง “การมัดเส้นด้ายเป็นเปลาะ” ชาวพวนมีวัฒนธรรมเป็นเอกลักษณ์ มีภาษาพูด ภาษาเขียน และนิยมทอผ้ามัดหมี่เป็นกิจวัตรประจำวัน

พิพิธภัณฑ์ไทยพวนบ้านทราย เป็นการส่งเสริมการอนุรักษ์และสืบสานมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรม ของสำนักงานวัฒนธรรมจังหวัด มีพื้นที่ไม่กว้างนัก อยู่ชั้นล่างของของศาลาเปรียญวัดบ้านทราย

จัดแสดงเครื่องใช้โบราณของชาว สะท้อนถึงวิถีชีวิตชุมชนบ้านทราย พร้อมจัดแสดงจัดวางเรือไม้โบราณลำใหญ่กลางห้อง ซึ่งเป็นเรือมาดใหญ่มีเก๋งเหมือนหลังคา ใช้เป็นพาหนะทางน้ำไปกิจของวัด แห่กฐินหรือผ้าป่า รวมถึงกี่กระตุก ผ้าทอโบราณ

และจัดแสดง “นางกวัก” ซึ่งเป็นการละเล่นพื้นบ้าน ที่เล่นกันเทศกาลงานประเพณีกำฟ้า ประเพณีโบราณที่ยังอนุรักษ์ไว้ ส่วนด้านหน้าพิพิธภัณฑ์ จะเป็นกระดานแสดงอักษรพวน เพื่อให้เด็กรุ่นใหม่ได้หัดเขียน-อ่าน โดยภาษาพวน สระไอ จะออกเสียงเป็น สระเออ ตัว “ร” ภาษาพวนจะใช้เป็นตัวอักษร “ฮ” ตัวอย่างเช่น รัก-ฮัก

เนื่องจาก ครูบานาวา เป็นผู้ก่อตั้งวัดบ้านทราย และเป็นสมภารวัดบ้านทรายรูปแรก ชาวบ้านทรายจึงถือว่าท่านเป็นต้นตระกูลของชาวบ้านทรายไทยพวนที่ได้รับความเคารพอย่างสูง มีการสร้างเจดีย์บรรจุอัฐิของท่านไว้ เรียกว่า เจดีย์ธาตุครูบานาวา เพื่อเป็นอนุสรณ์ให้คนรุ่นหลังได้เคารพสักการะ

และจากการที่ลูกหลานได้สืบค้นต้นตระกูลดั้งเดิมของขาวไทยพวนที่บ้านทราย ทำให้ทราบถึงต้นตระกูลเก่าแก่ที่สืบทอดมาถึงปัจจุบันล้วนคือนามสกุล กฐินเทศ กินจำปา จูมทอง บุญนำมา ประดับมุข ปัญญาสงค์ พันธุ์วิชัย วนาวรรณ

เมื่อไปถึงวัดบ้านทราย จะเห็นอุโบสถหลังเก่าชวนสะดุดตามาก พร้อมต้นโพธิ์ที่ปลูก และสร้างตั้งแต่ปีพ.ศ. 2399 เดิมเป็นที่ประดิษฐานของหลวงพ่อใหญ่ และพระโมกขลา 2 องค์ที่นำมาจากประเทศลาว แต่ถูกขโมยไป ไม่ไกลกันจะเห็นศาลเจ้าพ่อสนั่น หรือปู่สนั่น ซึ่งเป็นผู้เฒ่าที่มีอายุขัยเกือบ 300 ปี ทุก 9 ค่ำ เดือน 6 จะมีการเลี้ยงใหญ่ ชาวบ้านมักมาไหว้ขอพร และบนบานศาลกล่าว

พระครูทองคำ ภทฺธิปญฺโญ พร้อมด้วยชาวบ้านที่มีจิตศรัทธา ได้ร่วมปฏิสังขรณ์ศาลาการเปรียญขึ้นใหม่ พ.ศ. 2468 แทนศาลาไม้เก่า โดยเป็นศาลาพื้นไม้ชั้นเดียว ใช้เสาไม้ทั้งต้น หลังคามุงกระเบื้องดินเผา 3 ชั้นตามศิลปะแบบพวน นอกจากนี้ ยังมี ที่ปลูกพร้อมกับการก่อตั้งวัดบ้านทราย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2399

สมัยโบราณ เชื่อว่าหญิงทุกคนจะต้องทอผ้าเป็น จึงจะแต่งงานได้ ส่วนชายจะเป็นผู้สร้างกี่ทอผ้า เพื่อทอและตัดใส่ทำนา ส่วนใหญ่จะย้อมสีมะเกลือ (สีดำ) แต่ไม่ดำสนิทเพื่อป้องกันการเปื้อนโคลน ซึ่งการทอผ้ามัดหมี่ที่บ้านทราย ถือเป็นต้นตำรับการทอผ้ามัดหมี่ขนานแท้

“สมัยก่อนไม่มีใครทอผ้าสีสดๆ กันหรอกหนู พอป้าจบ ป.4 ก็เริ่มหัดทอผ้าแล้ว สมัยก่อนจะใช้กี่มือ และใช้เชือกกล้วยมามัดหมี่” คำพูดจากประสบการณ์กว่า 50 ปีในการทอผ้าของป้าปราณี ต้นเทียน หัวหน้ากลุ่มทอผ้าบ้านทราย ผู้ทอผ้าด้วยชีวิต และจิตใจ ทำให้ผ้ามัดหมี่ที่ป้าสร้างสรรค์ชื่อลายว่า “เพชรกะรัตสี” ได้รับเลือกเป็นผลิตภัณฑ์โอทอป 5 ดาว

สำหรับของฝากโอทอปนวัตวิถี ของชุมชนบ้านบ้านทราย นอกจากผ้ามัดหมี่แล้วยังประกอบด้วย ผ้าขาวม้า หอมปทุม หมี่กรอบสมุนไพร และกระยาสารท

ปลาส้มฝักทอด เป็นอาหารพื้นบ้านไทยพวนที่โดดเด่น คุณสกุลไทย ทบกุล เซฟใหญ่ของชาวไทยพวนบอกว่า “เราใช้ปลาส้ม คือปลาที่หมักแล้ว มาบด หมักนวดด้วยเกลือ กระเทียม รสไม่เปรี้ยวมากเหมือนแหนม” คำว่า “ส้ม” ภาษาพวนแปลว่า “เปรี้ยว” ฟัก ภาษาพวนแปลว่า “สับ” ปลาส้มฟัก จึงหมายถึงปลาสับรสเปรี้ยวกลมกล่อมนี่เอง

อีกเมนูเด็ดคือ แกงขี้เหล็ก ซึ่งไม่ใส่กะทิ ใช้ใบขี้เหล็กและใบย่านางที่ช่วยเพิ่มความหอม แล้วใส่น้ำปลาร้า น้ำพริกสด โดยเคล็ดลับความอร่อยคือ เผาพริก เผาหอม เผากระเทียม และตำกับปลาร้า ซึ่งหมักกันเอง

ผัดหมี่เปียก ใช้หมี่ขาวลวก ใช้เครื่องปรุงเยอะหน่อย หอม กระเทียม ผัดให้หอม แล้วค่อยเติมน้ำตาล ใส่น้ำมะขาม ใส่กากหมู นอกจากนั้นยังมีตุ๋นฟักไก่มะนาวดอง และแจ๋วลาบ

ซึ่งใครที่มาเป็นกลุ่มคณะ หรืออยากพักโฮมสเตย์ บ้านป้าปรานีก็มีให้บริการนี้ ให้ลองมาสัมผัสประสบการณ์ท่องเที่ยวแบบใหม่ ที่เข้าถึงวิถีชุมชนจริงๆ ป้าปราณี ต้นเทียน โทร. 089 900 2899

ชาวไทยพวน ยังอนุรักษ์การแต่งกายแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะกลุ่มบ้านทอผ้า ป้าปราณี ที่ยังสวมใส่เสื้อสายเดี่ยว คอเหลี่ยมจับจีบ หรือที่เรียกภาษาท้องถิ่นกันว่า “เสื้อหม่ากาแล้ง” พร้อมนุ่งผ้าซิ่นมัดหมี่ทอมือ มีตีนซิ่นเป็นลายขวาง และใช้ผ้าพาดบ่า “ผ้าโต่ง” แต่หากไปงานที่เป็นทางการสาวไทยพวนจะใส่แขนยาวทรงกระบอก

“ให้รักษาขนมธรรมเนียม ประเพณีไทยพวนนี้ไว้”

พระราชดำรัส ของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงตรัสหลังได้ทอดพระเนตรการแสดงรำฟ้อนพวนต้อนรับของสาวไทยพวน ครั้งเสด็จมาทรงยกช่อฟ้าอุโบสด วัดกัทลีพนาราม (วัดบ้านกล้วย) อำเภอบ้านหมี่ จ.ลพบุรี เมื่อ 25 กรกฎาคม 2512

 


Mostview

นวัตกรรมชีวเคมี นำแบคทีเรียสร้างเซลลูโลส ส่งเสริมเศรษฐกิจหมุนเวียน

นักวิจัยจากจุฬาฯ สร้างนวัตกรรม ‘เซลลูโลส’ จากแบคทีเรีย ทดแทนการนำเข้านับหมื่นล้านบาท ช่วย เศรษฐกิจหมุนเวียน และเป็น zero waste ภายใต้สิทธิบัตร ‘เซลโลกัม’

SOURCE Global บริษัทผู้ใช้แผงโซลาร์เซลล์เปลี่ยนอากาศให้กลายเป็นน้ำดื่ม แก้ปัญหาขาดแคลนน้ำ

ท่ามกลางอากาศที่แห้งแล้งในทะเลทรายของลาสเวกัส ดูเหมือนจะเป็นเรื่องยากกับการแหล่งน้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์รอบบริเวณที่มีอยู่ โดยทางตอนใต้ของเนวาดากำลังเผชิญภัยแล้งที่เลวร้ายที่ครั้งในประวัติศาสตร์ที่ต้องบันทึกไว้ จนนำไปสู่การขาดแคลนน้ำ และข้อจำกัดในการใช้

Asahi เพิ่มการผลิตเครื่องดื่มไร้แอลกอฮอล์ ชูเป็นสินค้าหลัก หลังคนญี่ปุ่นดื่มเบียร์น้อยลง

Asahi แบรนด์ผู้ผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เตรียมดันการผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้มากขึ้นกว่าเดิม หวังสร้างยอดขายในสัดส่วน 50% ภายในปี 2040

SmartSME Line